วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความทุกข์ khaosod

ความทุกข์

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด



ปัญหา ชีวิตที่คนทุกคนตั้งแต่เกิดมาล้วนประสบด้วยกัน นั่นก็คือ ความทุกข์ เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตายก็ทุกข์ ความโศกเศร้าเสียใจก็เป็นทุกข์ ประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่ชอบใจก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากคนรักของรักก็ทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น

คำว่า ทุกข์ หมายถึง ความไม่สบายกายไม่สบายใจ หรือสภาวะที่ทนอยู่ไม่ได้ มีประจำทุกชีวิต ท่านได้รวบรวมไว้ 10 ประการ คือ

1. นิพัทธทุกข์ ทุกข์เป็นประจำ เช่น หนาวร้อน หิวกระหาย มีปรากฏทั่วไปไม่ว่าในคนหรือสัตว์ ทุกข์ประเภทนี้ เช่น ทุกข์อันเกิดจากความหิว กระหาย ต้องแก้ด้วยการเสริมสร้างเศรษฐกิจให้สมบูรณ์ มีกินมีใช้

2. พยาธิทุกข์ ทุกข์อันเกิดจากความปวดเมื่อย ถูกโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางใจ ทุกข์อันเกิดจากความเจ็บปวด เช่น ปวดหลัง ปวดเอว ต้องแก้ด้วยการเปลี่ยนอิริยาบถ หากเจ็บป่วยให้รีบเยียวยา อย่าปล่อยทิ้งไว้ จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิต

3. อาหารปริเยฏฐิทุกข์ ทุกข์เกิดจากการแสวงหาเลี้ยงชีพ ทุกข์ประเภทนี้ ตั้งแต่เติบใหญ่ต้องแสวงหาความรู้ แสวงหางานทำ มีภาระจำต้องเลี้ยงดูครอบครัว บริวารญาติมิตร ทุกข์อันเกิดจากการแสวงหาปัจจัยมาเลี้ยงชีวิตนี้ ต้องแก้ด้วยธรรมะ 4 ประการ คือ ขยันหา รักษาทรัพย์ คบคนดีและเลี้ยงชีวิตให้พอดี

4. สภาวะทุกข์ ทุกข์ประจำ ทุกข์ที่เป็นเอง เช่น ทุกข์จากการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตาย ทุกข์ประเภทนี้ ท่านสอนให้รู้เท่าทัน คือ รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นธรรมดาของชีวิต มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ไม่จีรังยั่งยืน และไม่ได้มีกับเราคนเดียว

5. วิวาทมูลกทุกข์ ทุกข์เพราะการทะเลาะวิวาท เป็นทุกข์ทางสังคม หากไม่ได้ปรับความเห็นให้สอดคล้อง เข้ากันได้กับสังคม ก็จะเกิดปฏิกิริยาขัดแย้งกัน ทุกข์ประเภทนี้ ท่านสอนให้ยอมรับความจริงว่า คนทุกคนไม่เหมือนกัน และสอนให้ทำดีต่อกัน มีปัญหาก็ให้อดทนอดกลั้น รู้จักให้โอกาสและให้อภัย

6. สหคตทุกข์ ทุกข์อันเกิดจากการกังวลกับสิ่งที่ผูกพันกับชีวิต เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มีลาภ มียศ ก็มีทั้งสุขทั้งทุกข์ เช่น บางท่านมีรถยนต์ จัดว่ามีความสุข ไปไหนมาไหนสะดวกรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็มีทุกข์แอบแฝงอยู่ด้วย ไหนจะต้องดูแลเอาใจใส่รักษา ต้องเติมน้ำมัน เป็นต้น ทุกข์ประเภทนี้ท่านสอนให้แก้ด้วยการพิจารณาให้เห็นถึงความไม่เที่ยง ทุกอย่างมีได้มีเสีย มีขึ้นมีลงตลอดเวลา

7. วิปากทุกข์ ทุกข์เกิดจากผลของกรรม คือ การกระทำของตนที่ได้ทำไว้ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เช่น ประพฤติผิดกฎหมาย ถูกจับได้ต้องติดคุก ไม่มีอิสรภาพ ทุกข์ประเภทนี้ท่านสอนว่าอย่าประมาท ให้สังวรระวังกรรมอันจะเป็นผลให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนและคนอื่น เมื่อเผลอทำความชั่ว ก็รู้จักกลับตัวกลับใจเป็นคนดี ชีวิตก็จะมีแต่ความสุข

8. ปกิณณกทุกข์ ทุกข์เบ็ดเตล็ด ทุกข์อันเกิดจากการผิดหวัง พลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การไม่สมหวังในสิ่งที่ตนปรารถนา การประสบกับสิ่งอันไม่น่าชอบใจ เป็นทุกข์เล็กน้อยทั้งสิ้น ทุกข์ประเภทนี้ท่านสอนให้เตรียมใจไว้ให้พร้อม เพราะทุกคนต้องพลัดพรากด้วยกันทั้งนั้น ไม่จากกันยามเป็นก็จากกันยามตาย ไม่วันนี้ก็วันหน้า

9. สันตาปทุกข์ ทุกข์เพราะอำนาจกิเลสมันเผาลน เช่น ถูกความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอิจฉาริษยาเข้าครอบงำ ทำให้ทุกข์กายทุกข์ใจ ทุกข์ประเภทนี้ ท่านสอนให้แก้ด้วยให้รู้จักความพอดี มีความเมตตากรุณา มีความพลอยยินดีในเมื่อผู้อื่นได้ดี

10. ทุกขักขันธ์ ทุกข์รวบยอด คือ ขันธ์ 5 อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ทุกข์ประเภทนี้ ท่านสอนให้พิจารณาให้พิจารณาว่า มันไม่ใช่ของเรา แล้วให้รู้จักปล่อยวางเสียอย่ายึดถือไว้

เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญาควรทำลายต้นตอแห่งความทุกข์ทั้ง 10 ประการ ด้วยวิธีดังกล่าวมา จักประสบแต่ความสุขความเจริญตลอดไป

พระเทพคุณาภรณ์

(โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร

www.watdevaraj.com

ไม่มีความคิดเห็น: