วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

Groupthink จากมติชน

เออร์วิง แจนิส (Irving Janis) นักจิตวิทยาผู้ศึกษาพฤติกรรม Groupthink ในหลายๆ กรณี ได้บรรยายถึงอาการแปดประการของโรคดังกล่าวดังต่อไปนี้

1.ความงมงายที่ว่ากล่มต้องอยู่ยั้งยืนยง

2.ความงมงายที่ว่ากลุ่มมีคุณธรรมเหนือใครๆ คนอื่น

3.การถูไถหาเหตุผลเลื่อนลอยมาสนับสนุนมติของกลุ่ม

4.การเหมาเอาว่าคนนอกที่คัดค้านมติของกลุ่ม โง่ / ชั่ว / บ้า ... เหมือนกันหมด

5.ความไม่กล้าปริปากพูดในสิ่งที่ขัดแย้งกับมติของกลุ่ม

6.ความงมงายที่ว่ากลุ่มมีมติเอกฉันท์เสมอ

7.การข่มขู่-กดดันพวก "แตกแถว" หรือ "นอกคอก" 

8.การพยายามเซ็นเซอร์หลักฐาน-ข้อมูลที่ขัดแย้งกับมติของกลุ่ม

ในตัวอย่างของนายชิลเลอร์ พฤติกรรมของนักเศรษฐศาสตร์วินิจฉัยได้ว่าเข้าข่ายอาการข้อที่ 3, 4, 5, 6 และ 7

วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

คุณสมบัตินายกเล็ก

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2545 ต่อมาได้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ให้ใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้แก่การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2546 เป็นผลให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องเข้าไปควบคุม ดูแล การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2546 เป็นต้นไป

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น


1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
2. มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สมัครรับเลือกตั้ง มาเป็น เวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งหรือได้เสียภาษี ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเป็น เวลาติดต่อกันสามปีที่สมัครรับเลือกตั้งและ
4. คุณสมบัติอื่นที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
1. ติดยาเสพติดให้โทษ

2. เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี

3. เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 34 (1) (2)หรือ (4)

4. ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

5. ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป และได้พ้นโทษมายังไม่ถึง ห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

6. ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะได้รับโทษหรือไม่ โดยได้พ้นโทษหรือต้องคำพิพากษามายังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี

7. เคยถูกไล่ออก ปลดออกหรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ

8. เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

9. เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณีมายังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง

10. อยู่ในระหว่างเสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ตาม มาตรา 37 หรือตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา

11. เคยถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมายังไม่ถึงไม่ถึง หนึ่งปี นับแต่ วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งอันเนื่องมาจากการกระทำการโดยไม่ สุจริตตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับเลือกตั้งหรือได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริต

12. เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

13. เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาหรือเป็นผู้สมัครรับ เลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นเดียวกันหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น

14. เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ

15. เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือราชการ
ส่วนท้องถิ่นหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

16. เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

17. ลักษณะอื่นที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด กล่าวคือ " ไม่เป็นผู้ที่พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ฯลฯ เพราะเหตุมีส่วนได้ เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในสัญญาหรือกิจการที่กระทำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง " ( ให้ดูกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท ) นอกจากนี้ ผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่น เช่น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรีหรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ฯลฯ นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวแล้ว จะต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท กำหนดด้วย กล่าวคือ คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

1. มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
2. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัด
สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกรัฐสภา

คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี

1. มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
2. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น
ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกรัฐสภา ( ในวาระเริ่มแรก เป็นระยะ 4 ปี ยังมิให้นำคุณสมบัติในกรณีนี้มาใช้บังคับ)

คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล

1. มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
2. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิก
สภาท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกรัฐสภา
อายุของสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

อายุของสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น มีกำหนดคราวละสี่ปี นับแต่วันเลือกตั้ง
และเมื่ออายุของสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่นสิ้นสุดลง ต้องจัดการเลือกตั้งภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่อายุของสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่นสิ้นสุดลงหรือภายในหกสิบวันนับแต่วันที่สมาชิก สภาท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นนอกจากครบวาระ เว้นแต่วาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่นจะเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

"อำนาจฯ"ล่ม

วันที่ 04 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11196 มติชนรายวันสภา"อำนาจฯ"ล่ม กลุ่มส.ท.อ้างป่วยผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลางประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้นายศักดิ์ชัย ตั้งตระกูลวงศ์ เป็นนายกเทศมนตรี เมืองอำนาจเจริญ จากนั้นมีการกำหนดให้เปิดประชุมวิสามัญครั้งแรก เพื่อให้ผู้บริหารแถลงนโยบายต่อที่ประชุมสภา ปรากฏว่ามีสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) เข้าร่วมประชุมเพียง 8 คน จาก 24 คน ทำให้ไม่ครบองค์ประชุม และนายศักดิ์ชัยไม่สามารถแถลงนโยบายได้ โดย ส.ท.ที่ไม่เข้าร่วมประชุมให้เหตุเรื่องการลากิจและลาป่วยนายศักดิ์ชัยกล่าวว่า ได้เลื่อนนัดประชุมสภาออกไปเป็นวันที่ 6 พฤศจิกายน โดยฝากถึงเพื่อนสมาชิกขอให้เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกันเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน"เทศบาลมีเรื่องพัฒนาเทศบาลให้เจริญก้าวหน้าหลายเรื่อง ทุกคนควรหันหน้าเข้าหากันสร้างความสมานสามัคคี สร้างบ้านแปลงเมืองให้เจริญก้าวหน้า หากขัดแย้งกันไม่เกิดผลดีกับบ้านเกิดเมืองนอน ขอให้เห็นแก่ประชาชนที่เลือกตั้งเราเข้ามาเป็นตัวแทนพัฒนาบ้านเมือง โดยร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน"หน้า 8

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

คงความอ่อนวัยให้ชีวิต จาก ข่าวสด

คงความอ่อนวัยให้ชีวิตคอลัมน์ สดจากจิตวิทยานฤภัค ฤธาทิพย์/กรมสุขภาพจิตคนโดยทั่วไปคงมีความรู้สึกอยากให้ตนเองดูสดใสสดชื่น อ่อนวัยอยู่เสมอคงไม่มีใครที่อยากให้ตัวเองดูแก่หรือสูงวัย การดูแลรักษาสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนเรายิ่งในสังคมปัจจุบัน สภาพมลพิษ ปัญหาวิกฤตต่างๆ มากมาย ล้วนเป็นสาเหตุให้ผู้คนเกิดความเครียด อันเป็นสาเหตุสำคัญของความเหนื่อยล้าและความสูงวัยที่มาเยือน ดังนั้นหากอยากกระฉับกระเฉงและคงความอ่อนวัยไว้ก็ควรที่จะ- ทำจิตใจให้สดชื่นเป็นหนุ่มสาว อย่าคิดว่าตนเองแก่ พยายามมองโลกในแง่ดี มีความหวังในชีวิต หาหนทางคลายเครียด มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอยู่เสมอ มีความรักในหัวใจ รู้จักการให้แบ่งปันความรัก- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพราะการออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายกระฉับกระเฉงดูอ่อนกว่าวัย- กินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ เลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย รับประทานผักผลไม้ให้มาก ลดอาหารจำพวกแป้งและไขมันสิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการง่ายๆ ที่จะช่วยให้เรามีความสดชื่นแจ่มใสมีไฟในชีวิต รู้สึกมีพลังและพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เพื่อความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับหลักกรรม 3 ทำดีลบล้างความชั่วได้หรือไม่ จากมติชน

เพื่อความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับหลักกรรม 3 ทำดีลบล้างความชั่วได้หรือไม่
คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
คนส่วนมากมักจะคิดว่า "กฎแห่งกรรม" เป็นกฎตายตัว เป็นอย่างใดก็คงอยู่อย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง เห็นจะต้องขออนุญาต "จับเข่าคุย" เสียตรงนี้ (จะให้จับไหมเนี่ย) ว่ากฎแห่งกรรมนั้นเป็นหนึ่งในบรรดา 5 กฎคือ
1.พืชนิยาม กฎแห่งการสืบพันธุ์ หรือพันธุกรรม เช่นเมล็ดมะม่วงก็ย่อมงอกงามออกมาเป็นต้นมะม่วง จะเป็นต้นทุเรียนไปไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น นี้ก็เป็นกฎของธรรมชาติอย่างหนึ่ง
2.อุตุนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิ หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะดิน น้ำ อากาศ และฤดูกาล เช่นเย็น ร้อน หนาว ฟ้าร้องฟ้าฝ่า เป็นต้น นี้ก็เป็นกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง
3.จิตตนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต เช่นการที่จิตรับรู้เรื่องราวต่างๆ แวบไปโน่นไปนี่ได้รวดเร็วเหลือเชื่ออย่างไร จิตมันทำงานอย่างไร เป็นต้น นี้เป็นกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง
4.กรรมนิยาม กฎแห่งกรรม คือกฎธรรมชาติว่าด้วยการกระทำ และการให้ผลของการกระทำ เช่น ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว นี้เป็นกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง
5.ธรรมนิยาม กฎแห่งธรรมดาของสรรพสิ่ง เช่นสิ่งทั้งหลายมีการเกิดขึ้นแล้วย่อมแปรเปลี่ยนดับสลายไปในที่สุด พูดง่ายๆ ว่า ทุกสิ่งไม่แน่นอน เกิดขึ้นมาแล้วย่อมเปลี่ยนแปลงและดับสลายไปตามเหตุปัจจัย
กฎที่ 5 นี้ครอบคลุมทุกกฎที่กล่าวมาข้างต้น กฎแห่งกรรมก็เป็นหนึ่งใน 5 กฎนั้น เพราะฉะนั้น กฎแห่งกรรมจึงเปลี่ยนแปลงได้ มิใช่กฎตายตัว
เมื่อกฎแห่งกรรมมันเปลี่ยนแปลงได้ แล้วแต่เงื่อนไขใหม่ๆ ที่จะมาผันแปร หรือสนับสนุนให้มันเป็นไปในทางใด คนที่ทำความไม่ดีมาก่อน ความไม่ดีนั้น จริงอยู่แนวโน้มจะให้ผลไม่ดีแก่ผู้กระทำมีอยู่ เพียงรอโอกาสที่เหมาะจะให้ผล บังเอิญว่าคนคนนั้นมากระทำความดีมากมายเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา ความดีนั้นอาจจะมี "พลัง" ละลายความชั่วให้หายไป หรือหมดโอกาสจะให้ผลเลยได้
ในทำนองเดียวกัน คนที่เคยทำความดีมามาก ภายหลังกลับทำความชั่วมากขึ้นกว่าเดิม ความดีที่เคยมีก็อาจจะ "จางลง" ไปได้
เรื่องนี้ไม่ยกตัวอย่างคงจะกระจ่างยาก ผมขอยกตัวอย่างที่รับรู้กันได้ง่ายๆ สักเรื่องหนึ่ง สมมุติว่า เรามีบ่อน้ำที่มีน้ำสกปรกมากอยู่บ่อหนึ่ง การที่เราจะทำน้ำให้สะอาดอาจมีหลายวิธี แต่วิธีหนึ่งที่ง่ายๆ ก็คือ ไขน้ำที่สะอาดเข้าไปให้มากๆ
น้ำใหม่ที่สะอาดนั้นก็จะเข้าไปละลายน้ำเก่าให้เป็นเนื้อเดียวกัน สักพักน้ำในบ่อนั้นก็จะใสสะอาดจนกระทั่งดื่มกินได้
คำถามก็คือ น้ำที่สกปรกมันหายไปไหน ตอบว่า มันก็อยู่ตรงนั้นแหละ แต่มันเจือจางไปกลายเป็นน้ำที่สะอาดขึ้นมาแล้ว
ในเรื่องความดีความชั่วก็เช่นเดียวกัน เราเคยทำดีมามาก ภายหลังกลับทำความชั่วมากกว่า ความดีก็ละลายหายไปโดยอัตโนมัติ หรือเคยทำชั่วมา แต่ภายหลังทำความดีมากขึ้นๆ ความดีนั้นก็จะทำให้ความชั่วหมดไปได้
อย่างนี้เราจะเรียกว่า ทำชั่วลบล้างความดี ทำดีลบล้างความชั่วได้ไหม จะว่ามัน "ล้าง" กันตรงๆ เหมือนเอาผงซักฟอกล้างคราบสกปรกก็ไม่ใช่ดอกครับ เพียงแต่ว่า ความดี (บุญ) ถ้ามันมีมากขึ้นๆ มันก็ทำให้ความชั่ว (บาป) ที่มีอยู่เดิมละลายหายไปได้ คือไม่สามารถให้ผล หรือความชั่ว (บาป) เมื่อมีมากขึ้นๆ มันก็สามารถทำให้ความดี (บุญ) อันตรธานไปเช่นเดียวกัน
มีพุทธภาษิตรับรองไว้ว่า (ขอยกมาอ้างเพื่อความขลัง)
ยัสสะ ปาปัง กะตัง กัมมัง กุสะเลนะ ปะหิยะติ
โสมัง โลกัง ปะภาเสติ อัพภา มุตโตวะ จันทิมา
ใครทำความชั่วไว้ ภายหลังละได้ด้วยการทำความดี เขาผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว ดุจพระจันทร์พ้นจากเมฆหมอก ส่องสว่างกลางหาวฉะนั้น
แปลไทยเป็นไทยก็ว่า ใครก็ตามเคยทำชั่วไว้ ต่อมากลับทำความดีไว้มากๆ ความชั่วก็หายไป คนเช่นนี้เรียกว่า พบแสงสว่างแห่งชีวิตในโลกนี้ เหมือนพระจันทร์ไม่ถูกเมฆหมอกบดบัง
คงจะจำพระองคุลีมาลกันได้ ในอดีตท่านได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้มาก ฆ่าคนมาเป็นร้อยๆ ตามหลักของกรรม ความชั่วที่ท่านทำจะต้องตามสนองไม่เร็วก็ช้า แต่บังเอิญว่าท่านพบพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ เลิกละวางทางแห่งความชั่วร้าย ออกบวชบำเพ็ญพรต จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
เงื่อนไขใหม่ที่ท่านทำนี้มีมาก และมีพลังทำให้เงื่อนไขเก่าเปลี่ยนแปลงไป พูดง่ายๆ ก็ว่า ทำความดีจนถึงที่สุดแล้ว ความชั่วที่เคยมีมาก็หมดโอกาสให้ผลเอง จะเรียกว่ามันหายไปหมดไปเลยก็ได้ เหมือนน้ำสกปรกในบ่อ เมื่อมีน้ำสะอาดไหลเข้ามากๆ มันก็ละลายหายไปเองดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
หลักกฎแห่งกรรมตรงนี้ทำให้เราได้คิดว่า เราสามารถ "ลิขิต" ชีวิตตัวเองได้ ถ้าเรารู้ตัวว่าเราเคยไม่ดีมาก่อน (ไม่อยากใช้คำว่า "ทำชั่ว") ใช่ว่าเราจะเป็นอย่างนั้นชั่วอมตะนิรันดร์กาลก็หาไม่ เราสามารถทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ด้วยการพยายามปรับปรุงตัวเอง ทำความดีให้มากๆ ขึ้น เช่นให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญสมาธิภาวนา ในที่สุดเราก็จะกลายเป็นคนละคน
เพราะฉะนั้น อยากได้อะไร อยากเป็นอะไรในอนาคต ก็ทำเอาเองเถิด สร้างเหตุปัจจัยที่จะอำนวยผลในทางนั้น ไม่ต้องไปฝากชีวิตทั้งชีวิตไว้กับการเซ่นสรวงบูชา อ้อนวอนภูตผีเทวดาโดยไม่จำเป็น
พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า กัมมุนา วัตตะตี โลโก แปลให้ฟัง ชัดๆ ว่า คนเราจะเป็นอะไรก็เพราะการกระทำของเราเอง ภูตผีเทวดาไม่เกี่ยว

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

การเมืองของชุมชน copyจากมติชน

การเมืองของชุมชน

คอลัมน์ จินตนาการการเมืองใหม่

โดย ไมตรี จงไกรจักร์ เครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง




พิธีแห่ขบวนเรือในงานเปิดเลขเรือของชุมชนเกาะลันตา 

เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) เกิดขึ้นจากการรวมตัวของเครือข่ายองค์กรชุมชนที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสังคม และที่ผ่านมายังเป็นเครือข่ายหลักร่วมผลักดัน พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง ยกร่างแผนพัฒนาการเมือง นอกจากนี้ ยังได้สรุปบทเรียนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันมาหลายปี ทำได้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมชุมชน สร้างการเมืองใหม่ร่วมกันมานานหลายสิบปี

คปสม.ถอดบทเรียนร่วมกันของชุมชนกว่า 200 ชุมชน จากปฏิบัติการจริงในพื้นที่ ซึ่งเห็นว่าต้องสร้างการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้นโดยการเปลี่ยนแปลงใน 4 ส่วน

1.การเมืองใหม่เชิงโครงสร้าง เป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ซึ่ง คปสม.วิเคราะห์ว่าการเมืองที่ผ่านมามีปัญหาเพราะไม่มีเปิดโอกาสให้เสียงข้างน้อย โดยกลุ่มคนเสียงข้างน้อยกลายเป็นผู้ผิด ดังนั้น ทุกคนในสังคมต้องช่วยกันคิดว่าโครงสร้างทางการเมืองจะได้มาซึ่งนักการเมืองที่ดีมีคุณธรรมได้อย่างไร เพราะการเมืองแบบเก่ามีปัญหา นักการเมืองจะได้มาจากไหนก็ตาม ไม่นานก็เปลี่ยนไปตามเงินและอำนาจ สุดท้ายชุมชนไม่ได้อะไรมากนักจากการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนทั้งระบบครอบคลุมทุกด้าน แม้กระทั่งนักวิชาการบางคนเองก็เชื่อว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งและเสียงข้างมากเท่านั้น ซึ่งพวกเราเรียกประชาธิปไตยเผด็จการ (ผู้บริหารบ้านเมืองเมื่อได้เสียงข้างมากแล้วสามารถจัดการบริหารประเทศได้ทั้งหมดตามความต้องการของเสียงข้างมาก) นักวิชาการเหล่านี้ไม่เคยมองสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมและชุมชน 

งานเดินขบวนในวาระครบรอบ 5 ปี ของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น



2.การเมืองใหม่เชิงนโยบาย ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่เครือข่ายมองถึงการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้นควบคู่กันไปเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรชุมชน เพราะชุมชนไม่สามารถเข้มแข็งเองได้ แต่ต้องเกิดจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของชาวบ้าน ทั้งนี้ เพราะหน่วยงานราชการส่วนใหญ่ในเมืองไทยไม่ได้ต้องการให้ชุมชนเข้มแข็งจริงเพราะกลัวเกิดการต่อรองกับภาครัฐ ขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งของการพัฒนาชุมชน แต่กลับได้รับงบฯสนับสนุนจากรัฐบาลน้อยมาก จนต้องของบฯสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศเพื่อทำงานในพื้นที่ ดังนั้น การสร้างการเมืองใหม่ให้เข้มแข็งต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายดังนี้ 

2.1 สื่อสารมวลชนต้องไม่ถูกแทรกแซง และส่งเสริมให้สื่อเผยแพร่ข้อมูลครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะประเด็นสาธารณะต้องไม่ปิดบังทั้งด้านบวกและด้านลบ เพราะสื่อเป็นพื้นที่สร้างการเรียนรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อมของสังคม หากสื่อทุกประเภทกล้าเปิดเผยข้อเท็จจริงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและชาวบ้านสามารถพิจารณาเลือกคนดีได้มากกว่าเลือกเงิน 

2.2 กฎหมาย แม้รัฐธรรมนูญระบุเรื่องสิทธิชุมชน แต่กฎหมายหลายฉบับออกมานานและล้าสมัย ที่สำคัญคือมีการละเมิดสิทธิชุมชน ดังนั้น ต้องรื้อกฎหมายเหล่านี้ขึ้นมาพิจารณาร่วมกันใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน 

ชุมชนบางขุนเทียนประชุมคัดค้านการสร้างแนวกันคลื่นแบบไส้กรอกทราย



2.3 งบประมาณ องค์กรชุมชนต้องได้รับสนับสนุนจากรัฐโดยตรง โดยให้ชุมชนบริหารจัดการเองซึ่งต้องไม่ใช่รูปแบบระบบราชการ ทั้งนี้ แผนงานทั้งหมดเกิดขึ้นจากฐานพื้นที่องค์กรชุมชนซึ่งรัฐเองจะได้ประโยชน์โดยตรงเพราะมีคนช่วยทำงานในการแก้ปัญหา

2.4 ด้านการศึกษา ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เพราะปัจจุบันมุ่งเน้นให้เกิดการแข่งขันแย่งชิง ทำให้การศึกษาไม่เกิดการพัฒนาทางความคิดและร่วมสร้างสรรค์สังคม เพราะการศึกษาปัจจุบันส่งเสริมให้คนออกจากชุมชนไปเป็นลูกจ้าง ขาดการส่งเสริมให้เรียนรู้และรู้จักชุมชนตนเอง การเปลี่ยนแปลงของการศึกษาต้องสร้างหลักสูตรชุมชน ส่งเสริมการศึกษาทางเลือกที่เป็นรูปธรรม

3.การเมืองใหม่ การเมืองทางตรง ที่ผ่านมาหลายสิบปีที่เครือข่ายองค์กรชุมชนร่วมกันแก้ปัญหาในชุมชน โดยการกดดันหน้าอำเภอ หน้าศาลากลาง หน้าทำเนียบรัฐบาล ที่หลายคนเรียกม็อบ หลายคนเรียกการชุมชุม แต่เครือข่ายองค์กรชุมชนเรียกว่าการประชุมในที่สาธารณะ เพราะจัดขึ้นในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหา และเชิญส่วนราชการร่วมประชุมแต่ส่วนใหญ่จะไม่เข้าร่วม หรือเข้าร่วมก็จะรีบกลับ ยังไม่ทันได้รับรู้ปัญหา เครือข่ายองค์กรชุมชนจึงต้องไปประชุมร่วมกับหน่วยงานในสถานที่ที่เขาอยู่ ถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับส่วนราชการที่กินเงินเดือนภาษีประชาชนทั้งประเทศ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางลงพื้นที่และชุมชน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมักถูกประณามว่าเป็นมอบรับจ้าง สร้างความวุ่นวาย ทั้งๆ ที่คนกลุ่มนี้เป็นผู้เดือดร้อนตัวจริง 

4.การเมืองที่กินได้ เครือข่ายได้ร่วมสร้างการเมืองที่กินได้กันมาอย่างยาวนาน แต่หลายคนไม่เข้าใจหลักการของการเมืองแนวนี้ พวกเราเครือข่าย คปสม.ร่วมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การปลูกป่าชายเลน เพื่อปกป้องแหล่งอาหารและธนาคารปลาที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ กันแนวเขตทะเลเพื่อป้องกันการทำลายทรัพยากรทางทะเลและประมงผิดกฎหมาย การปกป้องอธิปไตยทางอาหาร เช่น การป้องกันให้ชาวตะวันออกกลางเข้ามาทำนา การสร้างความสุขมวลรวม (ชุมชนแห่งความสุข) ที่เกาะปอ จังหวัดกระบี่ ที่หนองผำ จังหวัดอุบลราชธานี กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องรื้อใหม่เพื่อใช้ในการคุ้มครองผู้ปกป้อง และให้ถือว่าเป็นคดีทางการเมือง

การเมืองใหม่ของสังคมไทยไม่ใช่เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนของสังคมต้องช่วยกันคิด สรรค์สร้างสังคม ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนผ่านทางการเมืองโดยใช้ชุมชน สังคม เป็นฐานเพื่อให้เกิดการเมืองที่เห็นหัวคนจนและคนส่วนใหญ่ของประเทศ 

ร้านอร่อยในโคราช copyจากมติชน

โปรดฟังอีกครั้ง... นานาร้านอร่อยในโคราช

คอลัมนื ตามรอยพ่อไปชิม

โดย ปิ่นโตเถาเล็ก




ยังอยู่กันต่อที่โคราชนะครับ ไหนๆ ก็มาแล้วผมขอถือโอกาสทบทวนร้านอร่อยในคราวเดียวกัน เอาให้จุใจ 3 เจ้าไปเลย

ร้านแรก เป็นร้านขนมจีนดังประจำจังหวัด ชื่อว่า "ขนมจีนแม่พลอย" ขึ้นชื่อเรื่อง "ขนมจีนประโดก" มีศักดิ์ศรีเป็นถึงผลิตภัณฑ์โอท็อป (OTOP) ประจำตำบลหมื่นไวยของจังหวัดนครราชสีมา ประโดกคือหมู่บ้านเก่าแก่ที่เป็นแหล่งผลิตขนมจีนอันลือชื่อมาเป็นเวลานาน 

ทางไปร้านให้ไปตั้งต้นที่หน้าเดอะมอลล์ ตรงไปถึงสามแยกใหญ่แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนมิตรภาพที่จะไปขอนแก่น ผ่านสถานีขนส่งและห้างแม็คโคร จากนั้นเลี้ยวซ้ายที่สี่แยกโรงแรมปีกาซัส (ก่อนถึงมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล) เข้าไปอีกนิดเดียวจะเห็นร้านขนมจีนแม่พลอยอยู่ทางซ้ายมือ จอดรถได้ข้างหลังร้าน

ที่นี่มีแกงให้เลือก 4 อย่าง ทั้งน้ำยากะทิปลาดุก น้ำยาป่าปลาช่อน น้ำพริก และแกงไก่ ที่ผมชื่นชอบเป็นอันมากคือ "น้ำยากะทิกับแกงไก่" สั่งแกงแยกมาเป็นถ้วยๆ ดีที่สุด จึงจะเลือกชิมได้ครบถ้วน สนนราคาถ้วยละ 20 บาทรวด

ขนมจีนประโดกเป็นขนมจีนหมักสีออกมอๆ ตุ่นๆ ขาวขุ่น ซึ่งผมชื่นชอบมากเพราะมีกลิ่นหมักและรสชาติดีกว่าชนิดสด น้ำยากะทิปลาดุกข้นคลั่กสีส้มสดรสชาติยอดเยี่ยมกลมกล่อมออกเค็มนิดหน่อย 

ส่วนแกงไก่แม่พลอยเป็นแกงสุดโปรดของผม ซึ่งเป็นแกงเผ็ดไก่ (แกงแดง) ไม่ใช่แกงเขียวหวาน นอกจากเนื้อไก่แล้ว ถ้าใส่ไก่เพิ่มจะคิดเป็นชิ้นๆ ตามประเภท โดยน่องไก่คิด 15 บาท เครื่องในสดอร่อยคิดพวงละ 15 บาทเช่นกัน เลือดชิ้นโตๆ 2 ชิ้น 5 บาท และตีนไก่ 1 คู่ 5 บาท แกงรสชาติจัดจ้าน รสเผ็ดๆ เค็มๆ ตีนไก่และเครื่องในสดอร่อยเหลือหลาย กินให้ครบเครื่องจริงๆ ต้องแกล้มด้วยไข่ต้มเพิ่มพลังอีก 1 ฟอง



มาโคราชแล้วอยากกินอาหารอีสานจำพวกลาบ เสือร้องไห้ ส้มตำต้องมาที่ร้าน "ลาบ-เนื้อย่าง ป.ต.อ." หรือที่เรียกกันติดปากว่าร้านหมวดเพ็ญ ทั้งๆ ที่เจ้าของนั้นมียศจริงๆ เป็นถึงพันโท 

จะไปร้านนี้ต้องเข้าไปในเขตทหารบริเวณค่ายสุรนารี ซึ่งเข้าได้หลายประตู โดยเข้าทางด้านถนนพิบูลละเอียดสะดวกที่สุด วิ่งผ่านโรงพยาบาลค่ายสุรนารีและสวนน้ำบุ่งตาหลั่วเฉลิมพระเกียรติ (หรือเรียกสั้นๆ ว่าบุ่ง) ผ่านประตูค่าย ตรงเข้าไปจนสุดทาง แล้วเลี้ยวขวาที่สามแยกเข้าถนนวีระโยธา วิ่งต่อไปจนถึงแยกวงเวียนแล้วเลี้ยวซ้าย 

จุดสังเกตด้านข้างคือ สนามไดร์ฟกอล์ฟ ป.ต.อ. ซึ่งเป็นลานฝึกซ้อมโล่งๆ ไม่ต้องมองหาตาข่ายสูงๆ ให้เสียเวลา เข้าไปไม่กี่ร้อยเมตรก็จะเห็นร้านเนื้อย่างป.ต.อ.ทางซ้ายมืออยู่ตรงใต้ถุนบ้านพักทหาร 

ของอร่อยร้านนี้มีหลายอย่าง เด็ดที่สุดคือ "เนื้อย่างติดมัน" หรือที่ถูกควรจะเรียกมันติดเนื้อมากกว่า เนื้อย่างเจ้านี้นุ่มเด็ดมีรสหวานเล็กน้อย เป็นเนื้อสันติดมันอย่างดี หมักด้วยสูตรลับเฉพาะวันต่อวัน หมักตอนเช้า กลางวันก็ได้ที่แล้ว เวลาย่างก็ต้องย่างให้เป็น ต้องพลิกเนื้อกลับไปกลับมาบ่อยๆ และต้องรู้เรื่องไฟด้วย น้ำจิ้มแจ่วของร้านนี้ก็เด็ดขึ้นชื่ออีกเช่นกัน ถ้าชอบมันมากๆ ให้บอกว่าเอา "เสือร้องไห้ติดมันเยอะๆ"



อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ "ไส้กรอกอีสาน" รสไม่เปรี้ยวมาก ถ้าชอบเปรี้ยวก็บอกเขาได้ ทำจากเนื้อสันหมูและสามชั้น ไม่เอาเศษคอหมูมาทำให้เสียราคา "ตับหวาน" นั้นก็สดหวานสมชื่อ ตับชิ้นหนาๆ สุกกำลังดีเคี้ยวดังกึ๊ดๆ เลย เป็นอาหารจานโปรดของผมด้วย 

จะกินส้มตำอีสานให้ถึงใจต้องสั่ง "ส้มตำปลาร้า" หอมอร่อย ของอร่อยอีกอย่างที่จะขาดไม่ได้คือ "ต้มเครื่องในวัว" รสแซ่บสะใจ อย่าลืม "ลิ้นหมูย่าง" นุ่มๆหอมๆ มันๆ ซึ่งเป็นเมนูเด็ดอีกเหมือนกัน ปิดท้ายด้วย "ลาบหมู" ครบเครื่องเรื่องอีสานแน่นอน ร้านนี้เปิดทุกวันไม่มีวันหยุด

ยามบ่ายอากาศร้อนๆ ไม่ต้องห่วง โคราชมีเฉาก๊วยโบราณและนมผสมเฉาก๊วยให้คลายร้อน เจ้านี้อร่อยที่สุดในประเทศไทย ใครๆ ก็รู้จัก "ร้านเฉาก๊วยโบราณ เจ๊อ้อยโคราช" อยู่บนถนนยมราชช่วงระหว่างถนนมนัสกับถนนประจักษ์ 

ที่นี่มี "เฉาก๊วยแบบโบราณ" ใส่กระปุกเป็นชุดๆ แยกน้ำเชื่อมและน้ำตาลทรายแดง นี่คือเฉาก๊วยในฝันของผม เนื้อเหนียวหนึบกำลังดี หอมกลิ่นเฉาก๊วยและน้ำตาลทรายแดง 

นอกจากนี้ยังมีเครื่องดื่มใส่ขวดเล็กๆ ผสมนมสดมากมายหลายชนิด ที่ห้ามพลาดคือ "นมผสมเฉาก๊วย" รสกลมกล่อมหวานมัน อีกทั้งยังมีเครื่องดื่มที่เป็น "นมผสมวุ้นและนมผสมแมงลัก" รสชาติต่างๆ ทั้งรสชาเย็น กาแฟ ใบเตย นมเย็น นมสด ชาเขียว แคนตาลูป เผือก ช็อกโกแลต และน้ำเก๊กฮวยผสมวุ้น สะอาดถูกหลักอนามัยมีเครื่องหมาย อย.กำกับ ทางที่ดีควรหาซื้อกล่องโฟมใส่น้ำแข็ง ซื้อติดไปสักหลายสิบขวด สนนราคาเพียง 10 บาทรวด เอากลับไปฝากคนที่บ้าน รับรองติดใจทั้งรักทั้งหลงคนซื้อไปอีกนาน

ข้อมูลร้าน

เฉาก๊วยเจ๊อ้อย โคราช

โดย คุณจำรัส และคุณแสนสุข(เจ๊อ้อย) เติมศรีสุข 

ที่ตั้ง 331/7 ถนนยมราช ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา 30000

โทร.0-4426-7443 และ 08-1976-5773

เปิดบริการ 07.00-19.00 น. ทุกวัน

แนะนำ เฉาก๊วยโบราณ นมผสมเฉาก๊วย และนมผสมวุ้นหรือแมงลัก รสชาติต่างๆ

ขนมจีนแม่พลอย

โดย แม่พลอย โตหมื่นไวย

ที่ตั้ง 7/1 หมู่ 6 ต.หมื่นไวย อ.เมือง จ.นครราชสีมา 

โทร.044-271-964

เปิดบริการ 07.00-16.00 น. ทุกวัน

อาหารแนะนำ ขนมจีนน้ำยากะทิ ขนมจีนแกงไก่

ร้านลาบ-เนื้อย่าง ป.ต.อ.

โดย พันโท บำเพ็ญ ศรีสุระ

ที่ตั้ง ซอยข้างสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ ป.ต.อ. ค่ายสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา

โทร.0-4499-0125 และ 08-1879-4743 (คุณป้อม ลูกสาวผู้พัน) และ 08-1879-4962 (คุณต้อย น้องคุณป้อม)

เปิดบริการ 10.00-20.00 น. ทุกวัน 

อาหารแนะนำ เนื้อย่าง ไส้กรอกอีสาน ตับหวาน ต้มเครื่องใน ลิ้นหมูย่าง ลาบหมู ส้มตำปลาร้า