วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

การเมืองของชุมชน copyจากมติชน

การเมืองของชุมชน

คอลัมน์ จินตนาการการเมืองใหม่

โดย ไมตรี จงไกรจักร์ เครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง




พิธีแห่ขบวนเรือในงานเปิดเลขเรือของชุมชนเกาะลันตา 

เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) เกิดขึ้นจากการรวมตัวของเครือข่ายองค์กรชุมชนที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสังคม และที่ผ่านมายังเป็นเครือข่ายหลักร่วมผลักดัน พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง ยกร่างแผนพัฒนาการเมือง นอกจากนี้ ยังได้สรุปบทเรียนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันมาหลายปี ทำได้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมชุมชน สร้างการเมืองใหม่ร่วมกันมานานหลายสิบปี

คปสม.ถอดบทเรียนร่วมกันของชุมชนกว่า 200 ชุมชน จากปฏิบัติการจริงในพื้นที่ ซึ่งเห็นว่าต้องสร้างการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้นโดยการเปลี่ยนแปลงใน 4 ส่วน

1.การเมืองใหม่เชิงโครงสร้าง เป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ซึ่ง คปสม.วิเคราะห์ว่าการเมืองที่ผ่านมามีปัญหาเพราะไม่มีเปิดโอกาสให้เสียงข้างน้อย โดยกลุ่มคนเสียงข้างน้อยกลายเป็นผู้ผิด ดังนั้น ทุกคนในสังคมต้องช่วยกันคิดว่าโครงสร้างทางการเมืองจะได้มาซึ่งนักการเมืองที่ดีมีคุณธรรมได้อย่างไร เพราะการเมืองแบบเก่ามีปัญหา นักการเมืองจะได้มาจากไหนก็ตาม ไม่นานก็เปลี่ยนไปตามเงินและอำนาจ สุดท้ายชุมชนไม่ได้อะไรมากนักจากการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนทั้งระบบครอบคลุมทุกด้าน แม้กระทั่งนักวิชาการบางคนเองก็เชื่อว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งและเสียงข้างมากเท่านั้น ซึ่งพวกเราเรียกประชาธิปไตยเผด็จการ (ผู้บริหารบ้านเมืองเมื่อได้เสียงข้างมากแล้วสามารถจัดการบริหารประเทศได้ทั้งหมดตามความต้องการของเสียงข้างมาก) นักวิชาการเหล่านี้ไม่เคยมองสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมและชุมชน 

งานเดินขบวนในวาระครบรอบ 5 ปี ของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น



2.การเมืองใหม่เชิงนโยบาย ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่เครือข่ายมองถึงการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้นควบคู่กันไปเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรชุมชน เพราะชุมชนไม่สามารถเข้มแข็งเองได้ แต่ต้องเกิดจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของชาวบ้าน ทั้งนี้ เพราะหน่วยงานราชการส่วนใหญ่ในเมืองไทยไม่ได้ต้องการให้ชุมชนเข้มแข็งจริงเพราะกลัวเกิดการต่อรองกับภาครัฐ ขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งของการพัฒนาชุมชน แต่กลับได้รับงบฯสนับสนุนจากรัฐบาลน้อยมาก จนต้องของบฯสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศเพื่อทำงานในพื้นที่ ดังนั้น การสร้างการเมืองใหม่ให้เข้มแข็งต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายดังนี้ 

2.1 สื่อสารมวลชนต้องไม่ถูกแทรกแซง และส่งเสริมให้สื่อเผยแพร่ข้อมูลครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะประเด็นสาธารณะต้องไม่ปิดบังทั้งด้านบวกและด้านลบ เพราะสื่อเป็นพื้นที่สร้างการเรียนรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อมของสังคม หากสื่อทุกประเภทกล้าเปิดเผยข้อเท็จจริงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและชาวบ้านสามารถพิจารณาเลือกคนดีได้มากกว่าเลือกเงิน 

2.2 กฎหมาย แม้รัฐธรรมนูญระบุเรื่องสิทธิชุมชน แต่กฎหมายหลายฉบับออกมานานและล้าสมัย ที่สำคัญคือมีการละเมิดสิทธิชุมชน ดังนั้น ต้องรื้อกฎหมายเหล่านี้ขึ้นมาพิจารณาร่วมกันใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน 

ชุมชนบางขุนเทียนประชุมคัดค้านการสร้างแนวกันคลื่นแบบไส้กรอกทราย



2.3 งบประมาณ องค์กรชุมชนต้องได้รับสนับสนุนจากรัฐโดยตรง โดยให้ชุมชนบริหารจัดการเองซึ่งต้องไม่ใช่รูปแบบระบบราชการ ทั้งนี้ แผนงานทั้งหมดเกิดขึ้นจากฐานพื้นที่องค์กรชุมชนซึ่งรัฐเองจะได้ประโยชน์โดยตรงเพราะมีคนช่วยทำงานในการแก้ปัญหา

2.4 ด้านการศึกษา ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เพราะปัจจุบันมุ่งเน้นให้เกิดการแข่งขันแย่งชิง ทำให้การศึกษาไม่เกิดการพัฒนาทางความคิดและร่วมสร้างสรรค์สังคม เพราะการศึกษาปัจจุบันส่งเสริมให้คนออกจากชุมชนไปเป็นลูกจ้าง ขาดการส่งเสริมให้เรียนรู้และรู้จักชุมชนตนเอง การเปลี่ยนแปลงของการศึกษาต้องสร้างหลักสูตรชุมชน ส่งเสริมการศึกษาทางเลือกที่เป็นรูปธรรม

3.การเมืองใหม่ การเมืองทางตรง ที่ผ่านมาหลายสิบปีที่เครือข่ายองค์กรชุมชนร่วมกันแก้ปัญหาในชุมชน โดยการกดดันหน้าอำเภอ หน้าศาลากลาง หน้าทำเนียบรัฐบาล ที่หลายคนเรียกม็อบ หลายคนเรียกการชุมชุม แต่เครือข่ายองค์กรชุมชนเรียกว่าการประชุมในที่สาธารณะ เพราะจัดขึ้นในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหา และเชิญส่วนราชการร่วมประชุมแต่ส่วนใหญ่จะไม่เข้าร่วม หรือเข้าร่วมก็จะรีบกลับ ยังไม่ทันได้รับรู้ปัญหา เครือข่ายองค์กรชุมชนจึงต้องไปประชุมร่วมกับหน่วยงานในสถานที่ที่เขาอยู่ ถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับส่วนราชการที่กินเงินเดือนภาษีประชาชนทั้งประเทศ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางลงพื้นที่และชุมชน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมักถูกประณามว่าเป็นมอบรับจ้าง สร้างความวุ่นวาย ทั้งๆ ที่คนกลุ่มนี้เป็นผู้เดือดร้อนตัวจริง 

4.การเมืองที่กินได้ เครือข่ายได้ร่วมสร้างการเมืองที่กินได้กันมาอย่างยาวนาน แต่หลายคนไม่เข้าใจหลักการของการเมืองแนวนี้ พวกเราเครือข่าย คปสม.ร่วมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การปลูกป่าชายเลน เพื่อปกป้องแหล่งอาหารและธนาคารปลาที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ กันแนวเขตทะเลเพื่อป้องกันการทำลายทรัพยากรทางทะเลและประมงผิดกฎหมาย การปกป้องอธิปไตยทางอาหาร เช่น การป้องกันให้ชาวตะวันออกกลางเข้ามาทำนา การสร้างความสุขมวลรวม (ชุมชนแห่งความสุข) ที่เกาะปอ จังหวัดกระบี่ ที่หนองผำ จังหวัดอุบลราชธานี กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องรื้อใหม่เพื่อใช้ในการคุ้มครองผู้ปกป้อง และให้ถือว่าเป็นคดีทางการเมือง

การเมืองใหม่ของสังคมไทยไม่ใช่เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนของสังคมต้องช่วยกันคิด สรรค์สร้างสังคม ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนผ่านทางการเมืองโดยใช้ชุมชน สังคม เป็นฐานเพื่อให้เกิดการเมืองที่เห็นหัวคนจนและคนส่วนใหญ่ของประเทศ 

ไม่มีความคิดเห็น: