วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2551

มีเรื่องของลิงด้วย จากมติชน

คิดเป็นทำเป็นตามแนวพุทธธรรม 5 คิดแบบแก้ปัญหา
คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก


วันนี้ขอว่าด้วยเรื่อง "คิดเป็นตามนัยพุทธธรรม" ต่อครับ เอาให้จบทั้ง 10 วิธีคิดเลย ว่าไปทีละวิธีเดี๋ยวก็จบเองแหละน่า

วิธีที่ 4 เรียกว่า คิดแบบอริยสัจ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายก็ว่า คิดแบบแก้ปัญหา

การแก้ปัญหาที่ถูกต้องเขามีแบบของเขาอยู่ ถ้าไม่แก้ตามแบบที่ว่านี้ยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่งเหมือนลิงแก้ปัญหาว่าอย่างนั้นเถอะ ทำไมเวลาแก้อะไรแล้วยุ่งจึงมักจะเปรียบกับลิงก็ไม่รู้ อาจเป็นเพราะลิงมันเป็นสัตว์ที่ชอบทำอะไรต่อมิอะไรเสมอไม่หยุดนิ่ง เนื่องจากสมองลิงมันก็แค่สมองลิง ไม่ได้ฉลาดเฉลียวอะไรนัก มันจึงมักทำอะไรสับสนวุ่นวายเสมอ มีนิทานมากมายเกี่ยวกับความยุ่งของลิง เช่น

ลิงทอดแห ว่ากันว่าลิงมันเห็นคนทอดแหได้ปลากินทุกวัน มันก็อยากจะทำตามบ้าง มันจึงไปเอาแหมาคลี่ๆ แล้วก็โยน หมายจะให้แหลงไปในน้ำ แต่เหวี่ยงอีท่าไหนไม่รู้ แหไปพันเอา มันก็ตกน้ำตูม ดิ้นตายในน้ำนั่นเอง เพราะแหวกแหออกมาไม่ได้

ลิงติดตัง ไอ้จ๋อแสนซนอีกนั่นแหละ เห็นคนเขาเอาตังไปวางไว้ สำหรับดักสัตว์ (ไม่ต้องการดักลิงดอกครับ) ด้วยความเป็นสัตว์มืออยู่ไม่สุข มันจึงเอามือข้างหนึ่งไปจับมือก็ติดตัง แกะไม่ออก เท้าซ้ายติดอีก เอาเท้าขวาถีบ เท้าขวาก็ติดอีก เหลือแต่ปาก จึงเอาปากกัด ปากเจ้ากรรมก็ติดอีก คราวนี้ก็ดิ้นใหญ่ กลิ้งหลุนๆ เหมือนลูกบอลถูกนักฟุตบอลดาวซัลโวเตะยังไงยังงั้น

ลิงล้วงมะพร้าว สมุนพระรามแสนซน เห็นคนเขาเฉาะมะพร้าวอ่อนขาย ด้วยความอยากจะกิน มันจึงแอบขโมยเวลาเจ้าของเขาเผลอ วิ่งขึ้นบนต้นไม้เอามือล้วงเนื้อมะพร้าวเต็มกำมือแล้วเอามือออกไม่ได้ มันตกใจเป็นการใหญ่ แปลกใจว่าเวลาเข้าทำไมเข้าได้ เวลาออกทำไมออกไม่ได้ มันจึงสลัดมือเร่าๆ สลัดยังไงก็ไม่หลุด จนกระทั้งพลัดตกต้นไม้ตายแหงแก๋

ลิง "หำแตก" ช่างไม้เขาเลื่อยไม้ยังไม่เสร็จ เอาลิ่มตอกไว้ กะว่าวันรุ่งขึ้นจะมาเลื่อยต่อ ไอ้จ๋อตัวหนึ่งไปดึงลิ่มสลักออกด้วยความซน ขณะที่นั่งดึงลิ่มสลักอยู่นั้น "หำ" (ลูกอัณฑะ) หย่อนลงตรงกลางพอดี พอลิ่มสลักหลุด ไม้สองซีกก็ดีดเข้าหากันหนีบ "หำ" แตกละเอียด แล้วมันจะเหลืออะไร

ลิงรดน้ำต้นไม้ เจ้านายสั่งให้พาบริวารลิงรดน้ำต้นไม้ขณะเจ้านายไม่อยู่หลายวัน เจ้าจ๋อมันสั่งให้บริวารถอนต้นไม้ทุกต้นมาดูว่า รากชุ่มน้ำหรือยังหลังจากรดน้ำแล้ว ชั่วเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์ เจ้าของกลับมาดูสวน ลมแทบจับ เพราะต้นไม้เฉาตายเกลี้ยงสวน (เรื่องนี้เคยเล่าให้ฟังแล้ว)

นิทานก็คือนิทาน อ่านให้สนุกเฉยๆ ก็ย่อมได้ แต่ถ้าจะเอา "คติธรรม" จากนิทานก็ย่อมได้เช่นกัน เรื่องของลิงทั้ง 5 เรื่องนี้แสดงถึงการแก้ปัญหาไม่เป็นของลิง ลิงมันจึงประสบความยุ่งยาก บางตัวถึงกับเสียชีวิต ยิ่งแก้ก็ยิ่งแย่ อยู่เฉยๆ ยังจะดีกว่า

ลิงมันไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน จะแก้ปัญหาจะต้องทำอย่างไร พูดให้เข้าหลักวิชาก็ว่า ลิงไม่รู้การแก้ปัญหาแบบอริยสัจ

อริยสัจ คือ หลักคำสอนที่สอนให้รู้ว่าสภาพปัญหาคืออะไร

สาเหตุของปัญหาอยู่ที่ไหน อะไรบ้าง

ปัญหานี้มีทางแก้ไหม ถ้ามี มีกี่วิธี และวิธีไหนที่ดีที่สุด

นี่แหละครับคือขั้นตอนของการแก้ปัญหาแบบอริยสัจ ในกระบวนการแก้ปัญหาแบบอริยสัจนี้ ปัญญาเป็นองค์ธรรมที่สำคัญที่สุด การกระทำ (กรรม) และความต่อเนื่องของการกระทำ (วิริยะ) เป็นส่วนประกอบทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

สรุปให้ชัดๆ ก็คือ การจะแก้ปัญหาได้ จะต้องรู้สภาพปัญหา รู้สาเหตุของปัญหา รู้ว่าปัญหาต่างๆ นั้นหมดไปได้

และต้องลงมือทำหรือแก้ปัญหานั้นอย่างต่อเนื่อง

พระพุทธเจ้าของเรานั้น เมื่อครั้งยังทรงเป็นเจ้าชายสิตธัตถะ ทรงรู้ปัญหาที่รุมเร้าจิตใจมนุษย์ทั้งปวง คือการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ ตามแรงกรรมดีและชั่วที่แต่ละคนทำไว้ เบื้องแรกนั้นทรงรู้ว่าตัวปัญหาคืออะไร และรู้ด้วยว่าสาเหตุมาจากอะไร แต่ดูเหมือนว่า วิธีแก้ปัญหานี้ พระองค์ยังไม่ทรงทราบแน่ชัด

คือทรงคิดว่าการทรมานตนเองให้ลำบากด้วยตบะวิธีต่างๆ นั้นคือทางแก้ปัญหา ทางที่จะพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ พระองค์จึงทรงบำเพ็ญตบะ (ทรมานตน) ต่างๆ นานา ท้ายที่สุดทรงลดอาหารลงทีละนิดๆ จนกระทั่งไม่เสวยอะไรเลย จนร่างกายผ่ายผอม เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก อันเรียกว่า "ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา"

เมื่อการกระทำเช่นนั้นมิใช่ทางแก้ปัญหา พระองค์จึงไม่ประสบความสำเร็จ พูดง่ายๆ ว่าทรง "ล้มเหลว" โดยสิ้นเชิง แทบจะเอาชีวิตไม่รอดเลยทีเดียว ถ้าอาจถึงแก่ชีวิตก็ได้

เดชะบุญ พระองค์ทรง "ได้คิด" ว่าทางแก้ปัญหามิใช่อยู่ที่การอดอาหาร เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องของจิตใจ การจะหลุดพ้นจากกิเลสที่รึงรัดใจ แต่ไปทรมานร่างกายย่อมเป็นไปไม่ได้ ทางที่ถูกควร จะต้องฝึกฝนอบรมจิตใจ และร่างกายเองก็ต้องบำรุงให้มีพลังพอที่จะทำความเพียรต่อไป เมื่อร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง จิตใจก็มีสุขภาพจิตที่ดีด้วย (ดังคำกล่าวว่า "จิตใจที่สมบูรณ์ ย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง" อะไรทำนองนั้น)

ทรงค้นพบ "ความพอดี" ของร่างกายและจิตใจ ความพอดีของแนวความคิด ไม่สุดโต่งไปทางข้างใดข้างหนึ่ง และความพอดีของการปฏิบัติ ไม่ย่อหย่อนเกินไป และไม่ตึงเกินไปจนกลายเป็นความทรมาน

เราเรียกการค้นพบทางที่ถูกของพระองค์ว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" (ทางสายกลาง) นี้แลคือทางแก้ปัญหาที่ว่ามาข้างต้น

เมื่อทรงรู้ชัดว่าทางแก้ปัญหาคืออะไร อย่างไร จากนั้นพระองค์ "ลงมือปฏิบัติ" ด้วยวิริยะ อุตสาหะ จนในที่สุดก็แก้ปัญหาเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดได้ อันเรียกตามศัพท์ศาสนาว่า "บรรลุนิพพาน" (บรรลุถึงความดับสนิทแห่งกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล)

ที่ยกวิธีคิดและวิธีแก้ปัญหาของพระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้มาให้ดูก็เพื่อแสดงความจริงอย่างหนึ่งว่า แม้ว่าจะรู้ในเบื้องต้นว่าปัญหาคืออะไร สาเหตุของปัญหาคืออะไร แต่ไม่รู้ทางแก้ที่ถูกต้อง ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ดังเจ้าชายสิตธัตถะในตอนแรกนั่นแหละครับ

นี่ขนาดท่านเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านยังพลาดพลั้งได้ในตอนแรก สำมะหาอะไรกับเราปุถุชนคนธรรมดา จะไม่พลาดพลั้งบ้าง อันนี้เท่ากับให้กำลังใจเรานะครับ อย่ากลัวเลย ถ้าเราจะผิดพลาดบ้าง เป็นบางครั้งบางคราว ขอแต่ให้มีเจตนาแน่วแน่ที่จะแก้ปัญหาก็ใช้ได้แล้ว สักวันหนึ่งคงรู้วิธีแก้ และแก้ได้

บางครั้งถึงจะรู้ทางแก้แต่เป็นทางแก้ที่ไม่ค่อยดีนัก แม้ปัญหาจะแก้ได้ก็จริง การแก้ปัญหานั้นก็ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ไม่ควรที่วิญญูชนจะเอาเป็นแบบอย่าง

นึกตัวอย่างอื่นไม่ออก ขอยกตัวอย่างนักวิทยาศาสตร์ใหญ่คนหนึ่งแก้ปัญหาก็แล้วกัน เรื่องนี้เคยเขียนถึงมาแล้ว ขออนุญาตนำมาเล่าอีก เพราะมันจำเป็นจริงๆ หาเรื่องอื่นที่เหมาะสมกว่าไม่ได้

นักวิทยาศาสตร์ใหญ่คนนี้ มีปัญหาคือรำคาญเสียงแมวที่ร่ำร้องขอเข้าออกห้อง ขณะแกทดลองวิทยาศาสตร์อยู่ในห้องแล็บ

แกรู้ว่าสาเหตุของปัญหาก็คือ แมวมันอยากเข้าอยากออกห้องทดลองเวลาที่มันต้องการ

แกรู้วิธีแก้เหมือนกัน คือรู้ว่าถ้าเจาะช่องให้แมวมันออกเสีย แมวมันก็จะได้เข้าออกตามต้องการ จะเข้าจะออกเวลาไหนมันก็ย่อมทำได้ตามที่มันต้องการ เมื่อเป็นเช่นนั้น มันก็ไม่ต้องมาร้องเหมียวๆ ขอเข้าขอออกเสียงหนวกหูจะหมดไป พูดง่ายๆ ว่า ปัญหานี้แก้ได้ว่าอย่างนั้นเถอะ

แต่วิธีแก้ปัญหาของแกไม่ชัดเจน แกจึงเจาะช่องสองช่อง ช่องใหญ่สำหรับแมวตัวใหญ่ ช่องเล็กสำหรับแมวตัวเล็ก

แก้ปัญหาได้จริง แต่การแก้แบบนี้คนฉลาดเขาไม่ทำกัน ยิ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ใครๆ ยกย่องในมันสมองอันปราดเปรื่องด้วยแล้วทำอย่างนี้เขาจะหัวเราะเยาะเอา

ก็นำมาเล่าขานหัวเราะเยาะมาจนบัดนี้แหละครับ

เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาแบบอริยสัจ จะต้อง "รู้" ทุกขั้นตอน เมื่อรู้แล้วก็ลงมือทำ และทำอย่างต่อเนื่อง จนกว่าปัญหา ทั้งหมดจะได้รับการแก้ไข ฉะนี้แลโยมเอ๋ย

ไม่มีความคิดเห็น: