วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

กองทุนคนพอเพียง รวยกว่าประชานิยม จาก ไทยรัฐ

กองทุนคนพอเพียง รวยกว่าประชานิยม [19 ก.ย. 51 - 16:10]

นัก วิชาการในห้องแอร์ นักการเมืองประชานิยมเชื่อว่า การพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นความยากจนได้... ต้องให้คนจนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายที่สุด

นโยบายที่ว่า...หว่านเงินกู้ให้กับชาวบ้านผ่านทางกองทุนต่างๆ และธนาคารของรัฐไปยังชนบท ด้วยเชื่อว่า เงินคือพระเจ้า...ชาวบ้านมีเงิน ชีวิตก็จะมีความสุขขึ้นมาได้เอง

แต่สิ่งที่นักวิชาการระดับด็อกเตอร์มอง นักเลือกตั้งประชานิยมเชื่อ... ชนชั้นรากหญ้า ผู้ใช้ชีวิตยืนตากแดดกลางทุ่ง นอนกางมุ้งใต้หลังคาสังกะสี ใน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา กลับเห็นตรงข้าม

“เอากองทุนมาให้ เอาโน้นเอานี่มาให้ แต่ทำไปทำมาเรากลับมีหนี้มากขึ้นกว่าเดิม ยิ่งอยากได้เงินมากเท่าไร พยายามขยันทำมาหาเงินเท่าไร หนี้ยิ่งกลับเพิ่มมากเท่านั้น

เราลงทุนทำนามากขึ้น อยากได้เงินไปซื้อโน้นซื้อนี่ แต่สุดท้ายเราแทบไม่ได้อะไรเลย คนที่ได้กลับเป็นพ่อค้าขายปุ๋ย ขายเคมียาฆ่าแมลงในตลาดโน้น”

นายอนุพงษ์ พุฒกลาง ประธาน กองทุนสวัสดิการชุมชนคนพอเพียง ต.กระเบื้องใหญ่ ต.สัมฤทธิ์ อ.พิมาย เล่าถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

และไม่น่าเชื่อ มุมมองของชนชั้นรากหญ้า ช่างสอดคล้องต้องกับรายงานการศึกษาของนักวิจัย มหาวิทยาลัยเอ็มไอที สหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งเปิดเผยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

พบว่า...เงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองของรัฐบาลไทยที่ทำลงไปนั้น ประชาชนในหมู่บ้าน ไม่ได้นำเงินไปลงทุนในภาคเกษตร หรือธุรกิจต่อเนื่องเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายของโครงการแต่อย่างใด

ชาวบ้านกู้เงินไปใช้ในการบริโภคเป็นส่วนใหญ่ โดยรายจ่ายหลักคือการซ่อมแซมบ้าน ซ่อมแซมรถ ซื้อน้ำมันรถ นม เหล้า บุหรี่

และตั้งแต่เงินกู้จากกองทุนเข้าไปในหมู่บ้าน กลับทำให้การกู้เงินนอกระบบ กู้เงินจากสถาบันการเงินขยายตัวเพิ่มตามไปด้วย...กู้เอาไปใช้หนี้คืนกองทุน หมู่บ้านฯ

งานวิจัยชิ้นนี้ ยังพบอีกว่า หนี้เสียของกองทุนฯ ซึ่งวัดจากการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือน มีเพิ่มสูงถึง 19%

ต่างจากที่สถาบันการเงินของรัฐ รายงานว่ามีหนี้เสียแค่ 4%

กองทุนที่รัฐหยิบยื่นก่อให้เกิดหนี้...ไม่เหมือนการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“เราอยู่แบบพอเพียงถึงจะไม่มีเงิน แต่เราก็มีกิน ไม่อดตาย และไม่มีหนี้ ที่สำคัญทำให้ชาวบ้านสามารถยืนได้โดยลำแข้งของเราเอง โดยไม่ต้องหวังพึ่งพาคนอื่น ชีวิตอย่างนี้ยั่งยืนกว่า มั่นคงกว่า...หวังพึ่งพาแต่ความช่วยเหลือจากรัฐบาล”

เป็นความรู้สึกจากใจ ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนคนพอเพียงฯ ที่ได้สัมผัสการหวังพึ่งความช่วยเหลือจากภาครัฐมาไม่น้อยว่า ผลสุดท้ายมักจะลงเอยเช่นไร

ชาวบ้านที่นี่เชื่อว่า การพึ่งพาตัวเองดีกว่า มีความสุขกว่า หลังจากช่วยกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนพอเพียง...โดยการชักชวนของศูนย์ เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ให้สมาชิกฝากเงินกับกองทุนวันละ 1 บาท

ฝากไว้ ไม่ใช่เป็นกองทุนให้ชาวบ้านด้วยกันกู้ยืม...แต่ฝากไว้เป็นกองทุน ที่แบ่งเงินออกเป็น 3 กอง

กองแรก 50% ของเงินฝาก เก็บไว้เป็นกองทุนสวัสดิการสำหรับช่วยเหลือชาวบ้านด้วยกันเอง ในยามเจ็บไข้ได้ป่วยต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล คลอดบุตร ยามแก่เฒ่า และเสียชีวิต

ฝากวันละ 1 บาท ครบ 6 เดือน ได้สิทธิ...ป่วยได้ค่ารักษาตัวที่โรงพยาบาล คืนละ 100 บาท ไม่เกิน 10 คืน

คลอดบุตรได้ 1,000 บาท ต่อครั้ง ป่วยจากการคลอดบุตร ได้ค่ารักษาพยาบาล 100 บาทต่อคืน ไม่เกิน 5 คืน

บุตรที่คลอด ได้เงินค่ารับขวัญ 500 บาท และต้องสมัครเป็นสมาชิกกองทุน ฝากวันละ 1 บาท ตั้งแต่แรกเกิด

เสียชีวิตได้เงินช่วยเหลือ 3,000-30,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะการออมนานแค่ไหน

เรียกว่า ไม่ต่างกับการประกันสุขภาพและประกันชีวิตของภาคเอกชนเท่าไร

กองที่สอง 30% ของเงินฝากเก็บไว้เป็นกองทุนสำหรับลงทุน ในวิสาหกิจชุมชนตามที่ชาวบ้านเรียกร้องต้องการ

ที่เหลืออีก 20% กันไว้เป็นทุนในการติดต่อเชื่อมโยงกับชุมนุมเครือข่ายอื่นๆ ในต่างจังหวัด ไว้คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันยามเดือดร้อนขัดสน

“ก่อนที่คิดจะตั้งกองทุนนี้ขึ้นมา ชาวบ้านก็ถกเถียงกันอยู่นานพอสมควร เพราะชาวบ้านไม่ค่อยมั่นใจสักเท่าไรว่าจะเป็นจริง ทำได้จริง

ฝากเงินไปแล้วจะไม่ถูกโกงเหมือนที่ผ่านมาหรือเปล่า เพราะที่โรงพยาบาลพิมาย เคยตั้งกองทุนเหมือนกัน แต่เป็นกองทุนฌาปนกิจ ที่ชาวบ้านได้จ่ายเงินไปแล้วคนละหลายพันบาท ตั้งได้แค่ 2 ปีก็ล้ม ชาวบ้านถูกโกงถูกเชิดเงิน

แต่จากการได้พูดคุยกัน ถึงความเดือดร้อนของพวกเราด้วยกันเองที่มีปัญหาเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย ถึงทางรัฐบาลจะมีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคให้ก็ตาม แต่ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีพอ เลยเห็นด้วยที่เราจะมีกองทุนแบบนี้ขึ้นมา”

หลังจากรวบรวมสมาชิกเริ่มแรกได้ครบ 100 คน กองทุนจึงได้ฤกษ์ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อ 19 ต.ค. 2549 และหลังจากชาวบ้านได้เห็นผลงานเป็นประจักษ์ว่า เจ็บป่วย คลอดลูกได้เงินช่วยเหลือจริง จำนวนสมาชิกก็เลยเพิ่มจำนวนมากขึ้น จนกองทุนเงินฝากวันละ 1 บาท พุ่งเพิ่มขึ้นมาเป็น 2.4 แสนบาท

ก่อตั้งได้ 1 ปี วิสาหกิจชุมชนอีกแห่ง ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมา...ธนาคารขยะ

นายประกิต ร่มรื่น ผู้จัดการธนาคารขยะ เล่าถึงสิ่งที่ชาวบ้านได้จากการรู้จักพึ่งพาตัวเองแบบพอเพียงว่า ตอนนั้นชุมชนของเรามีปัญหาขยะทิ้งเกลื่อนกลาด เต็มไปหมด โดยเฉพาะที่โรงเรียน ประกอบกับพ่อค้าของเก่ามารับซื้อขยะแบบกดราคา คณะกรรมการกองทุนจึงคิดจัดตั้งธนาคารขยะขึ้นมา รับซื้อขยะจากชาวบ้านในราคายุติธรรม

อย่างเมื่อก่อนพ่อค้ารับซื้อขวดพลาสติกแบบเหมา ให้ราคา กก.ละ 3 บาท แต่ธนาคารขยะรับซื้อ สอนให้ชาวบ้านแยกขยะ ขวดพลาสติกใส ให้ราคา กก.ละ 16 บาท

“กิจการธนาคารขยะของเรา ไม่เพียงช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น ยังทำให้หมู่บ้านเราสะอาดมากขึ้น หาขยะแทบไม่ได้เพราะชาวบ้านแย่งกันเก็บมา ขาย เดือนๆหนึ่งมีรายได้จากขายขยะ 70-80 บาท ต่อครอบครัวเลยทีเดียว”

จากนั้นไม่เท่าไร เมื่อเงินกองทุนงอกเงยเพิ่มขึ้นมา วิสาหกิจชุมชนที่ชาวบ้านต้องการอีกอย่างก็เกิดขึ้นตามมาอีก

เอาเงินฝากวันละ 1 บาท...มาลงทุนในกิจการโรงปุ๋ย

ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ขายสมาชิกในราคาพิเศษ และขายส่งออกในราคาที่บวกกำไรแบบมิตรภาพ

“จะปลูกข้าวได้กำไรขาดทุนก็อยู่ที่ปุ๋ยนี่แหละ ขนาดตอนที่ข้าวมีราคา ใช้ปุ๋ยเคมีขายข้าวแล้วได้ทุนคืน ไม่ขาดทุนก็เก่งแล้ว แต่พอมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่เราทำเอง ตอนนี้มีกำไรเหลือ ไร่ละ 600-700 บาทแล้ว”

ตอนนี้ได้ขยายต่อไปทำกิจการธนาคารต้นไม้ เพาะพันธุ์ไว้ปลูกเองและขาย ตามด้วยลงทุนเปิดร้านค้าของชุมชน เอาสินค้าที่ชาวบ้านผลิตได้มาขายกันเอง งานขายสินค้าอบายมุข เหล้าบุหรี่

ชั่วเวลาแค่ไม่ถึง 2 ปี การรวมตัวพึ่งพาตัวเอง ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ส่งผลเห็นเป็นประจักษ์ นายอนุพงษ์ บอกว่า ทุกวันนี้คนในหมู่บ้านถึงจะไม่รวยขึ้น แต่หนี้ก็ไม่เพิ่ม และดูจะมีความสุขมากขึ้นกันทุกครอบครัว

เห็นได้จากชาวบ้านกล้าพบปะพูดคุยกันมากขึ้น...เพราะวันนี้ตัวเอง มีหนทางออกที่ยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้

ผิดกับก่อนหน้านี้ ไม่ค่อยกล้าสู้หน้าพูดคุยกัน...ด้วยเป็นทุกข์ อายเรื่องหนี้ เลยพยายามหนีหน้าห่างกัน..

ไม่มีความคิดเห็น: