วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2551

อย่าใช้วิธีเดียว/พูดให้เป็น-รู้จักพูด จาก ข่าวสด

อย่าใช้วิธีเดียว/พูดให้เป็น-รู้จักพูด
ธรรมะสู้ชีวิต
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
อย่าใช้วิธีเดียว
คุยกับเพื่อนที่เพิ่งรู้จักกันใหม่คนหนึ่ง เพื่อนเป็นนักธุรกิจขนาดย่อมที่ประสบความสำเร็จพอสมควรคนหนึ่ง ผมถามว่า มีเทคนิควิธีอะไรที่ทำให้ทำงานประสบความสำเร็จ เพื่อนบอกว่าไม่มีอะไรมาก ยึดถือคติเพียง 2 ข้อ คือ อดทน และเปลี่ยนแปลง

การทำงานอะไรก็ตามถ้าขาดคุณสมบัติ คือความอดทนเสียแล้ว ยากจะประสบความสำเร็จ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ความอดทนที่ใช้ก็ไม่ต้องมาก แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ และยิ่งต้องใช้เวลายาวนาน ก็ต้องอดทนเพิ่มขึ้นมากมายหลายร้อยเท่า

ฟังเพื่อนพูดแล้วทำให้นึกถึงอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่าง นึกถึงสัตว์ตัวเล็กๆ 2 ตัวคือ แมงมุม กับ กิ้งก่า

เคยเห็นแมงมุมมันถักใยไหมครับ สมัยผมเป็นเด็ก ชอบเฝ้าดูแมงมุมมันถักใย มันจะไต่ขึ้นไปจากมุมฝาด้านนี้ไปอีกด้าน มันจะตกลงมา แล้วมันก็จะพยายามไต่ขึ้นไปใหม่ ตกลงมา-ไต่ขึ้นไป ตกลงมา-ไต่ขึ้นไป เป็นอยู่อย่างนี้แล้วๆ เล่าๆ มันก็ไม่เลิกรา เพียรถักใยโดยวิธีนี้เป็นวันๆ ในที่สุดมันก็ได้ใยเป็นวงกลม มีลวดลายสวยงาม

การกระทำของแมงมุมบอกให้เรารู้ว่า นี่แหละคือสิ่งที่พระเรียกว่า วิริยะ หรือ วิริยารัมภะ (ความเพียร หรือ การปรารภความเพียร) "เพียร" ในความหมายของท่าน มิได้หมายความว่าต้องทำอย่างหักโหม ทำเต็มที่ ไม่หลับไม่นอนอะไรอย่างนั้น แต่หมายถึงการค่อยๆ ทำสม่ำเสมอ ทำเป็นกิจวัตร

เพราะฉะนั้น เวลาพระพุทธเจ้าตรัสอธิบายความเพียรพระองค์จะตรัสคำ "ไวพจน์" (Synonym) ไว้กำกับว่าสาคัจจกิริยา การกระทำต่อเนื่อง, ทำสม่ำเสมอไม่ขาดตอน

เด็กในกรุงอาจไม่เคยเห็นกิ้งก่า กิ้งก่าเป็นสัตว์ที่มีนิสัยประหลาดคือ วิ่งเร็ว และหยุดอยู่กับที่นาน เวลามันเห็นคนมันจะวิ่งจู๊ดหนีไปอย่างรวดเร็วมาก เสร็จแล้วมันจะเกาะกิ่งไม้นอนหลับตาปุ๋ยอยู่กับที่เป็นเวลานาน พอมีอะไรมาทำให้ตกใจทีก็วิ่งจู๊ดไปอีก แล้วก็นอนสงบนิ่งหลับตาเพลิน เป็นอยู่อย่างนี้

คนทำงานเหมือนกิ้งก่าก็คือ คนทำอะไรอย่างหักโหม ทำเอาๆ สักพักแล้วก็วางมือ นึกขึ้นมาได้ก็จับมาทำใหม่ ไม่ได้ทำต่อเนื่องเป็นกิจวัตรสม่ำเสมอ กิริยาอาการอย่างกิ้งก่านี้ไม่ควรนำไปใช้เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะไม่ช่วยให้ทำอะไรได้ประสบความสำเร็จ

คติข้อที่ 2 ที่เพื่อนยึดถือคือ รู้จักเปลี่ยนแปลง ทำให้นึกถึงนิทานจีนขึ้นมาเรื่องหนึ่งสั้นๆ แต่มีคติสอนใจดี

มีชาวนาคนหนึ่งไถนาเพลินอยู่ มีกระต่ายตัวหนึ่งวิ่งมาจากไหนไม่ทราบ ไปชนตอไม้ข้างๆ ดิ้นกระแด่วๆ ตายทันที

ชาวนาคนนี้ดีใจ ที่อยู่ๆ มีลาภลอยมาเข้าปาก เอากระต่ายกลับบ้านไปให้ภรรยาทำอาหารกินได้ตั้งหลายมื้อ

ชาวนาแกมานึกว่า การจะได้กระต่ายกินนี่ไม่ยากเลย ไม่ต้องไปดักไปยิงเหมือนคนอื่น เพียงแต่นั่งรอมันอยู่ตรงนี้แหละ เดี๋ยวก็จะมีกระต่ายตัวที่สอง ที่สาม วิ่งมาชนตอไม้ตายให้ได้กินอีก

คิดดังนี้แล้ว แกก็มานั่งเฝ้านอนเฝ้าอยู่ตรงนั้นทุกวัน กาลเวลาผ่านไปหลายวัน ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น แกเลยเลิกมานั่งเฝ้าอีกต่อไป

ไม่มีกระต่ายตัวที่สองวิ่งมาชนตอไม้อีกเลย!

เพราะฉะนั้น ถ้าหวังความก้าวหน้า และความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไปในหน้าที่การงานหรืออาชีพที่ทำอยู่ ก็ต้องรู้จักเปลี่ยนแปลง แก้ไขวิธีทำงานให้ทันสมัย และมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ



พูดให้เป็น-รู้จักพูด

ค่ำพูดที่คนใช้สื่อสารกันอยู่ในชีวิตประจำวันนั้น มีอยู่ 2 ประเภท คือ คำพูดดี รู้จักพูด เรียกว่า สุภาษิต กับคำพูดไม่ดี ไม่รู้จักพูด เรียกว่า ทุพภาษิต

คำพูดที่เรียกว่าสุภาษิตนั้น ต้องครบองค์ประกอบทั้ง 5 ประการคือ

-พูดถูกกาล, -พูดคำจริง, -พูดสุภาพ,

-พูดมีประโยชน์, -พูดด้วยเมตตา

จะพูดดีขนาดไหน ถ้าพูดไม่ถูกเวลา พูดคำไม่จริง ไม่สุภาพ ไม่มีประโยชน์ และพูดด้วยความมุ่งร้ายหมายขวัญ ก็ไม่นับว่า "สุภาษิต"

คนพูดดี คนรู้จักพูด ย่อมมีภาษีกว่าคนสักแต่ว่ามีปากแล้วก็พูดๆ สุนทรภู่มหากวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวไว้ให้คิดว่า "เป็นมนุษย์สุดนิยมที่ลมปาก จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ"

มีนิทานสอนใจเกี่ยวกับการใช้คำพูดเรื่องหนึ่ง ลูกเศรษฐีสี่คนเห็นนายพรานบรรทุกเนื้อผ่านมา อยากได้เนื้อกินบ้าง จึงเข้าไปพูดกับนายพรานทีละคน

คนแรกตะโกนว่า "เฮ้ย นายพราน บรรทุกเนื้อมาเต็มเกวียนเชียวหรือวะ ขอข้ากินบ้างสิเว้ย"

นายพรานฟังคำพูดอันระคายหูก็นึกฉุนในใจ หน็อยแน่จะขอเขากินทั้งที พูดไม่เข้ารูหู จึงตอบไปว่า "คำพูดของท่านหยาบเหมือนพังผืด ไม่สบายรูหูเลยนะ" ว่าแล้วก็เฉือนพังผืดยื่นให้สมกับคำพูดหยาบๆ ของเขา

คนที่สองกล่าวว่า "พี่ชายครับ ขอเนื้อผมบ้างเถอะครับ"

นายพรานกล่าวว่า "พี่น้องนั้นเปรียบเสมือนแขนขา ท่านเรียกเราว่า พี่ชาย ท่านจงเอาเนื้อขาไปเถิด" ว่าแล้วก็หยิบขาเนื้อให้

คนที่สามพูดว่า "พ่อครับ ขอเนื้อผมบ้าง"

นายพรานพูดว่า "เวลาได้ยินใครเรียกพ่อ ทำให้หัวใจของผู้ถูกเรียกหวั่นไหว คำพูดของท่านดุจดังหัวใจ จงเอาเนื้อหัวใจไปเถิด" ว่าแล้วก็เฉือนเนื้อหัวใจให้เขาไป

คนสุดท้ายกล่าวว่า "สหาย ขอเนื้อเราบ้าง"

นายพรานกล่าวว่า "หมู่บ้านใดไม่มีเพื่อน หมู่บ้านนั้นเป็นเสมือนป่า คนที่มีเพื่อนนับว่ามีทุกอย่าง เพราะฉะนั้นเราจะมอบเนื้อทั้งหมดแก่ท่าน" ว่าแล้วก็ยกเนื้อให้ทั้งเกวียนเลย และทั้งสองคนก็ได้กลายเป็นเพื่อนรักกันต่อมา

พูดดี พูดเป็น หรือรู้จักพูด ก็สำเร็จประโยชน์อย่างนี้แหละครับ ความจริงคนเราเกิดมาธรรมชาติก็ให้ปากมาทุกคน แต่ก็ใช้ปากไม่เหมือนกัน บางคนสักแต่ว่ามีปากให้พูดก็พูดๆๆ โดยไม่คำนึงว่าคำพูดของตนจะเป็นที่ระคายเคือง หรือจะก่อความเสียหายแก่คนอื่นหรือไม่

ที่ยกมานี้เพื่อแสดงว่า ไม่ใช่สักแต่ว่ามีปากแล้วก็พูดๆ ออกไป โดยไม่คำนึงว่าวาจาที่พูดออกไปนั้นจะเป็นโทษเป็นภัยแก่ใครหรือไม่ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "ขณะที่ชาวโลกเขาซัดกันด้วย "หอกคือปาก" ใครสงบปากสงบคำอยู่ได้ นับว่าอยู่ใกล้พระนิพพานแล้ว"

นั่นก็คือให้คำนึงก่อนว่า ถ้าพูดอะไรออกไปแล้ว จะเป็นผลร้ายแก่ตัวเรา แก่คนอื่นหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็นิ่งไว้ดีกว่า "นิ่งเสียตำลึงทอง" อะไรทำนองนั้น แต่ถ้าเรื่องใดไม่พูดแล้วจะเสียหายแก่ตนเอง และแก่ส่วนรวมก็ให้พูดออกไป

คงจะบอกยากว่าเรื่องใดควรพูด ไม่ควรพูด ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป แม้เรื่องที่ควรพูดยังต้องดูว่า ควรพูดกับใครเมื่อใดอีกด้วย ปัญญาตัวเดียวครับที่จะตัดสินได้

ไม่มีความคิดเห็น: