วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551

คุณธรรมที่คนส่วนมากขาด จาก ข่าวสด

คุณธรรมที่คนส่วนมากขาด กุศโลบายเพื่อความสำเร็จธรรมะใต้ธรรมาสน์เสฐียรพงษ์ วรรณปกคุณธรรมที่คนส่วนมากขาดไปร่วมอภิปรายในงานสำคัญงานหนึ่ง ผู้อภิปรายท่านหนึ่งกล่าวว่า คนไทยมักขาดความรักความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ชอบแต่ให้คนอื่นฉิบหาย แล้วท่านก็ยกตัวอย่างว่า จะเห็นได้เลยเวลาไฟไหม้บ้านคนอื่นก็ดี เวลาคนอื่นประสบอุบัติเหตุ เช่นโดนรถชน เป็นต้น ก็ดี จะมี "ไทยมุง" มากมาย มายืนดูความฉิบหายของคนอื่น ท่านว่าอย่างนั้นความจริงแล้วจะเหมาเอาว่าคนที่มายืนมุงดูเหตุการณ์ต่างๆ ที่ว่ามานั้น เป็นพวกชอบให้คนอื่นฉิบหาย ก็คงไม่ถูกนัก เพราะธรรมชาติของคนทั่วไป ไม่ว่าชาติไทยหรือชาติไหน เมื่อเห็นอะไรผิดปกติก็อดจะมาดูไม่ได้ การมามุงดูก็เพื่อให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จะไปเหมาเอาหมดว่ามาดู เพื่อให้สะใจ เพื่อสุขใจที่เห็นคนอื่นฉิบหายก็คงไม่ถูกแต่ถ้าจะพูดว่า คนไทยมักไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการอนุโมทนา หรือยินดีด้วยกับความสำเร็จ หรือความสุขของคนอื่นล่ะก็พอฟังขึ้น ทั้งๆที่สมัยโบราณท่านปลูกฝังเรื่องนี้มาก แต่ปัจจุบันนี้ได้จางคลายลงไปมากในพระพุทธศาสนามีวิธีทำบุญอยู่อย่างหนึ่ง (ในสิบวิธี) คือการพลอยยินดี เมื่อเห็นผู้อื่นทำความดี เรียกว่า "อนุโมทนามัย" บุญกุศลสำเร็จด้วยการแสดงอาการพลอยยินดีด้วย"ผู้ใหญ่จะทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น เวลาผู้ใหญ่ท่านไปฟังธรรมมา หรือได้บริจาคเงินทำบุญอะไรมา ก็จะมาบอกลูกหลานว่า "พ่อแม่-ปู่ย่า ได้ทำบุญอย่างนั้นๆ มา ขอให้ลูกอนุโมทนาด้วยนะ" แล้วลูกหลานก็จะยกมือไหว้อนุโมทนาด้วยด้วยการทำอย่างนี้ ลูกหลานก็ได้บุญด้วย เป็นการแสดงออกซึ่งจิตใจที่บริสุทธิ์ พลอยยินดีกับการทำความดี ไม่อิจฉาริษยาที่เห็นคนอื่นทำดีการทำเช่นนี้นับเป็นคุณธรรมข้อหนึ่งชื่อ มุทิตา ซึ่งเป็นหนึ่งในหลัก "พรหมวิหาร" (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) พระท่านว่าเป็นธรรมที่ทำให้คนเป็นผู้ประเสริฐ (พรหม แปลว่า ประเสริฐ) หรือเป็นธรรมสำหรับผู้ใหญ่ (พรหม แปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า ผู้ใหญ่)สังคมใดถ้าผู้ใหญ่มีมุทิตา สังคมนั้นจะมีแต่ความสมัครสมานสามัคคี และมีความเจริญก้าวหน้า เพราะมุทิตานับเป็นคุณธรรมที่ "เสริมแรง" หรือกระตุ้นให้คนทำความดีว่ากันว่า ผู้ใหญ่ทำดีนั้นง่าย เพียงแค่พูดแสดงความชื่นชมยินดีกับลูกน้องประโยคเดียว ก็นับว่าได้ทำความดีแล้วเช่น "ดีใจด้วยนะ ขอแสดงความยินดีด้วย ที่ได้ทราบว่าคุณได้รับรางวัล" "งานนี้สำเร็จด้วยดี ก็เพราะคุณมีส่วนสำคัญมากขอขอบใจ ขอให้ช่วยกันนะ" ฯลฯผู้ใหญ่ที่มีมุทิตาต่อผู้น้อยอย่างนี้ ย่อมเป็นที่รักและเคารพของผู้น้อยอย่างไม่ต้องสงสัยทั้งๆ ที่เป็นเรื่องง่ายที่จะทำ แต่ก็ปรากฏว่าไม่ค่อยจะทำกัน ส่วนมากนอกจากจะไม่ชื่นชมยินดีกับความดีของลูกน้องแล้ว ยังแสดงความอิจฉาริษยาออกนอกหน้าเสียอีกผู้ใหญ่บางคนถือคติว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาจะต้อง อยู่ใต้ตนทุกอย่าง จะปล่อยให้เกินหน้าเกินตาไม่ได้ เดี๋ยวเหลิงปกครองยาก ยิ่งเห็นหรือได้ยินคนอื่นชื่นชมลูกน้องของตนให้รู้สึกว่า ทนไม่ได้เห็นผู้ใต้บังคับบัญชาคนใด ทำท่าจะแข่งรัศมีของตน ก็คอยกดขี่หรือกลั่นแกล้ง เพราะกลัวว่าตนเองจะด้อย จะหมดความสำคัญผู้ใหญ่ที่คิดเช่นนี้ เป็นผู้ใหญ่ที่ขาดมุทิตาธรรม ถึงจะปกครองลูกน้องได้ก็ปกครองได้แต่กายของเขา หา "กำใจ" ของเขาได้ไม่ถ้าอยากให้ลูกน้อง และเพื่อนร่วมงานรักท่านอย่างสุดชีวิตจิตใจ ก็หัดรู้จักพลอยยินดีกับความสุขความสำเร็จของคนอื่นบ้างเถิดทำความดีอย่างนี้ไม่ต้องลงทุนอะไรเลยกุศโลบายเพื่อความสำเร็จมีคนพูดว่า กุศโลบาย ก็คือการโกหกนั่นเอง แต่คำจำกัดความนี้คงจะ "แรง" ไป สำหรับคำว่า "กุศโลบาย" เพราะตามศัพท์จริงๆ แปลว่า อุบายหรือวิธีที่ฉลาด วิธีที่ฉลาดไม่จำเป็นต้องเป็นวิธีที่โกหกคดโกงเสมอไปจริงอยู่วิธีการอาจมองเผินๆ ว่า เป็นการพูด หรือทำ "ไม่ตรง" ตามนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องดูที่เจตนาและผลที่ออกมา ว่าพูดหรือทำด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์หรือไม่ ผลที่ออกมานั้นเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือไม่ยกตัวอย่างที่ผมชอบยกอยู่เสมอคือ มีแม่ทัพท่านหนึ่งนำกองทัพเข้าสู้รบกับข้าศึก กองทัพของตนมีกำลังน้อยกว่ากองทัพของข้าศึก เหล่าทหารหาญทั้งหลายเห็นดังนั้นก็ขวัญไม่ค่อยจะดี แม่ทัพก็ทราบเรื่องนี้วันหนึ่ง แม่ทัพก็พานายทหารเข้าไปไหว้พระในโบสถ์แห่งหนึ่งล้วงเหรียญขึ้นมา กล่าวอธิษฐานดังๆ ว่า ถ้ากองทัพของข้าพเจ้าจะรบชนะข้าศึก ขอให้เหรียญนี้ออกหัว ว่าแล้วก็เขย่าเหรียญในมือ โยนลงบนพื้นเหรียญออกหัวท่านแม่ทัพหยิบเหรียญขึ้นมาเขย่า พลางอธิษฐานอีกเป็นครั้งที่สองแล้วโยนลง เหรียญออกหัวเช่นเดิมท่านทำอย่างนี้ถึงสามครั้ง เหรียญก็ออกหัวทุกครั้ง เหล่านายทหารทั้งหลายต่างก็ขวัญมาเป็นกอง ที่รู้ว่ากองทัพของตนจะชนะเพียงไม่กี่นาทีข่าวว่ากองทัพของตนจะรบชนะข้าศึก ก็แพร่กระจายไปทั่วกองทัพ ทหารหาญทั้งหลายต่างฮึกเหิม มีกำลังใจ ถึงคราวรบก็รบกันอย่างอุทิศ จนสามารถเอาชนะข้าศึกได้นายทหารคนสนิทพูดกับท่านแม่ทัพในวันหนึ่งว่า พระเจ้าอวยพรให้เราชนะก็ชนะจริงๆ แม่ทัพล้วงเหรียญขึ้นมาแบให้นายทหารคนสนิทดู พร้อมกล่าวว่า"ไม่ใช่ดอกคุณ เหรียญนี้ต่างหากที่ช่วยให้พวกเราชนะ"ปรากฏว่าเหรียญนั้นมีแต่ "หัว" ทั้งสองด้าน ซึ่งแม่ทัพท่านทำขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อนำมาใช้ในคราวคับขันอย่างนี้ก็เรียกว่า "กุศโลบาย" ของแม่ทัพ จะว่าแม่ทัพท่านโกหกหรือไม่ก็แล้วแต่จะคิด แต่เจตนาของแม่ทัพเป็นกุศลต้องการให้เกิดผลดีแก่ส่วนรวมในการดำเนินชีวิตของคนเรานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ปัญญา อย่างน้อยก็ให้รู้จักวิธีแก้ไขปัญหาและวิธีการทำงานให้ประสบความสำเร็จ และก้าวหน้าไปด้วยดีคนทำงานอย่างโง่ๆ ไม่ศึกษาหาความก้าวหน้าในทางความรู้และประสบการณ์ ก็คงไม่ต่างกับตาแก่กับลูกชายจูงลาตาแก่คนหนึ่งกับลูกชายอายุประมาณไม่เกิน 10 ขวบ จูงลาผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่งชาวบ้านพูดว่า "ดูตาแก่กับลูกชายสิ มีลาอยู่ทั้งตัวจูงตั้งสองคน ทำไมไม่ขี่คนหนึ่ง อีกคนหนึ่งจูง"ตาแก่ได้ยินดังนั้น จึงให้ลูกชายขึ้นขี่ลา ตัวเองจูงไปได้หน่อยหนึ่งมีคนพูดว่า "ดูเด็กน้อยคนนั้นสิ นั่งลาสบาย ปล่อยให้พ่ออายุมากแล้วจูง ทรมานคนแก่เปล่าๆ"คราวนี้ตาแก่ไล่ลูกชายลงตัวเองขึ้นนั่งหลังลาให้ลูกชายจูง ผ่านอีกหมู่บ้านหนึ่ง ชาวบ้านพูดว่า "ดูอีตาแก่คนนั้นสิให้เด็กตัวเล็กๆ จูงลา ตัวเองขี่สบายใจเฉิบ เอาเปรียบเด็กเหลือเกิน"ตาแก่รีบลงจากหลังลา คิดหนักจะทำอย่างไร จูงทั้งสองคนก็ถูกว่า ให้ลูกขี่ตนจูงก็ถูกว่า ตนขี่ให้ลูกจูงก็ถูกว่า อย่ากระนั้นเลยขึ้นขี่มันทั้งสองคนดีกว่า ว่าแล้วก็บอกให้ลูกขึ้นขี่ลาพร้อมกับตน ลาเดินหลังแอ่นด้วยความหนักชาวบ้านเห็นเข้าก็ชี้ให้กันดูว่า "ดูไอ้แก่กับเด็กคนนั้นสิ ขึ้นขี่ลาจนมันหลังแอ่น ทารุณสัตว์เหลือเกินนะ"นิทานก็เป็นเพียงนิทานอาจมิใช่เรื่องจริงก็ได้ แต่ "สาระ" ของนิทานก็มีอยู่ เรื่องนี้ต้องการชี้ว่า ปัญญาความรู้เท่านั้นจะเป็นตัวบอกว่าตาแก่ควรจะทำอย่างไรให้ถูกต้องเหมาะสม จะขี่ให้ลูกจูง หรือจะให้ลูกขี่ตัวเองจูง หรือผลัดกันขี่ ความเหมาะสมอยู่ที่ไหน อย่างไรคนมีปัญญาจะรู้เองเพราะฉะนั้นในการดำเนินชีวิตจึงต้องการปัญญา คอยชี้แนะแนวทาง นักสู้ชีวิตควรแสวงหาปัญญาและประสบการณ์ไว้ให้มาก อุบายที่จะนำออกใช้จะได้เป็น "กุศโลบาย" (อุบายอย่างฉลาด) มิใช่อุบายโง่ๆ แบบตาแก่

ไม่มีความคิดเห็น: