วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2551
ใช้ซ้ำอย่างปลอดภัย จากข่าวสด
การ "ใช้ซ้ำ" (Reuse) เป็นแนวทางหนึ่งในการลดขยะและช่วยลดภาวะโลกร้อนไปด้วยในตัวจากรายงานหัวข้อ "REUSE ลดขยะปลอดภัย" ในนิตยสาร "ชีวจิต" ฉบับเดือนธ.ค. ศุภรา กันตะพัฒนะ ให้ข้อมูลว่า วิธีการใช้ซ้ำ หรือ Reuse ทำได้เองโดยไม่ต้องผ่านโรงงาน 2 วิธีดังนี้ 1.นำกลับมาใช้ซ้ำด้วยวิธีการเดิม เช่น นำภาชนะที่เคยใส่อาหารมาใช้ใส่อาหารอีกครั้ง2.การนำกลับมาใช้ซ้ำโดยผ่านการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ในรูปแบบใหม่ อะไรใช้ซ้ำได้บ้าง?อาทิ วัสดุแก้ว กระดาษ กระป๋องเหล็กหรืออะลูมิเนียม กล่อง กระป๋อง ขวด หรือภาชนะทำจากพลาสติก เสื้อผ้า ของเหลือใช้อื่นๆ ใช้ซ้ำอย่างไรให้ปลอดภัย?จากข้อมูลสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สรุปวิธีการใช้ซ้ำให้ปลอดภัย ดังนี้ 1.บรรจุภัณฑ์หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วทุกชนิดสามารถใช้ซ้ำได้ หากไม่ได้ใช้กับอาหารหรือเครื่องดื่ม2.บรรจุภัณฑ์หรือวัสดุที่จะนำมาใช้ซ้ำกับอาหารและเครื่องดื่มจะต้องเป็น Food Grade เท่านั้น และหากต้องการใช้วัสดุที่ทำจากแก้วกับอาหาร ควรผ่านความร้อนเพื่อฆ่าเชื้อก่อนทุกครั้ง3.นอกจากแก้วแล้ว หากคิดจะใช้ซ้ำบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่นกับอาหารและเครื่องดื่ม พึงระวังเรื่องต่อไปนี้- ภาชนะพลาสติกทุกชนิดที่มีปากกว้าง ทำความสะอาดง่าย สามารถใช้บรรจุอาหารที่อุณหภูมิปกติ หรือแช่เย็นแช่แข็งได้ ไม่เป็นอันตราย แต่ไม่ควรใส่อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด- ภาชนะประเภทพลาสติกที่มีลักษณะคอแคบ ผิวขรุขระ หรือมีเหลี่ยมมุมมาก หากคิดจะใช้ซ้ำกับอาหารและเครื่องดื่ม ควรมั่นใจว่าได้ทำความสะอาดเป็นอย่างดีจนปลอดเชื้อ- ภาชนะพลาสติกทุกชนิด ไม่ควรใส่อาหารร้อนหรือผ่านการให้ความร้อน เช่น การนำเข้าไมโครเวฟ แม้ว่าการใช้ครั้งแรกจะระบุว่าใช้กับไมโครเวฟได้ เพราะตั้งใจผลิตมาให้ใช้ครั้งเดียว ภาชนะจึงบาง หากผ่านความร้อนบ่อยครั้งอาจปล่อยสารที่เป็นอันตรายได้ - กระป๋องโลหะที่เคยใส่อาหาร (อาหารกระป๋องต่างๆ) หากจะใช้ซ้ำกับอาหาร ควรแน่ใจว่าภายในไม่มีรอยขูดขีดที่ทำให้สารเคลือบผิวหลุดออกมาและไม่ควรใช้กับความร้อน- ถุงพลาสติกและกล่องใส่อาหาร รวมถึงฟิล์มยืดปิดอาหารที่ผ่านการใช้แล้ว ไม่ควรนำมาใช้กับอาหารอีกเป็นอันขาดคำแนะนำนี้ คงจะช่วยให้คุณพ่อบ้านคุณแม่บ้าน นัก Reuse สบายใจมากขึ้น
วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
Groupthink จากมติชน
1.ความงมงายที่ว่ากล่มต้องอยู่ยั้งยืนยง
2.ความงมงายที่ว่ากลุ่มมีคุณธรรมเหนือใครๆ คนอื่น
3.การถูไถหาเหตุผลเลื่อนลอยมาสนับสนุนมติของกลุ่ม
4.การเหมาเอาว่าคนนอกที่คัดค้านมติของกลุ่ม โง่ / ชั่ว / บ้า ... เหมือนกันหมด
5.ความไม่กล้าปริปากพูดในสิ่งที่ขัดแย้งกับมติของกลุ่ม
6.ความงมงายที่ว่ากลุ่มมีมติเอกฉันท์เสมอ
7.การข่มขู่-กดดันพวก "แตกแถว" หรือ "นอกคอก"
8.การพยายามเซ็นเซอร์หลักฐาน-ข้อมูลที่ขัดแย้งกับมติของกลุ่ม
ในตัวอย่างของนายชิลเลอร์ พฤติกรรมของนักเศรษฐศาสตร์วินิจฉัยได้ว่าเข้าข่ายอาการข้อที่ 3, 4, 5, 6 และ 7
วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
คุณสมบัตินายกเล็ก
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
2. มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สมัครรับเลือกตั้ง มาเป็น เวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งหรือได้เสียภาษี ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเป็น เวลาติดต่อกันสามปีที่สมัครรับเลือกตั้งและ
4. คุณสมบัติอื่นที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
1. ติดยาเสพติดให้โทษ
2. เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี
3. เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 34 (1) (2)หรือ (4)
4. ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
5. ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป และได้พ้นโทษมายังไม่ถึง ห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
6. ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะได้รับโทษหรือไม่ โดยได้พ้นโทษหรือต้องคำพิพากษามายังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี
7. เคยถูกไล่ออก ปลดออกหรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
8. เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
9. เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณีมายังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง
10. อยู่ในระหว่างเสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ตาม มาตรา 37 หรือตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
11. เคยถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมายังไม่ถึงไม่ถึง หนึ่งปี นับแต่ วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งอันเนื่องมาจากการกระทำการโดยไม่ สุจริตตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับเลือกตั้งหรือได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริต
12. เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
13. เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาหรือเป็นผู้สมัครรับ เลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นเดียวกันหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
14. เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
15. เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือราชการ
ส่วนท้องถิ่นหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
16. เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
17. ลักษณะอื่นที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด กล่าวคือ " ไม่เป็นผู้ที่พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ฯลฯ เพราะเหตุมีส่วนได้ เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในสัญญาหรือกิจการที่กระทำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง " ( ให้ดูกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท ) นอกจากนี้ ผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่น เช่น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรีหรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ฯลฯ นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวแล้ว จะต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท กำหนดด้วย กล่าวคือ คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
1. มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
2. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัด
สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกรัฐสภา
คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี
1. มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
2. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น
ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกรัฐสภา ( ในวาระเริ่มแรก เป็นระยะ 4 ปี ยังมิให้นำคุณสมบัติในกรณีนี้มาใช้บังคับ)
คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล
1. มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
2. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิก
สภาท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกรัฐสภา
อายุของสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
อายุของสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น มีกำหนดคราวละสี่ปี นับแต่วันเลือกตั้ง
และเมื่ออายุของสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่นสิ้นสุดลง ต้องจัดการเลือกตั้งภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่อายุของสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่นสิ้นสุดลงหรือภายในหกสิบวันนับแต่วันที่สมาชิก สภาท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นนอกจากครบวาระ เว้นแต่วาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่นจะเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
"อำนาจฯ"ล่ม
วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
คงความอ่อนวัยให้ชีวิต จาก ข่าวสด
วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
เพื่อความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับหลักกรรม 3 ทำดีลบล้างความชั่วได้หรือไม่ จากมติชน
คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
คนส่วนมากมักจะคิดว่า "กฎแห่งกรรม" เป็นกฎตายตัว เป็นอย่างใดก็คงอยู่อย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง เห็นจะต้องขออนุญาต "จับเข่าคุย" เสียตรงนี้ (จะให้จับไหมเนี่ย) ว่ากฎแห่งกรรมนั้นเป็นหนึ่งในบรรดา 5 กฎคือ
1.พืชนิยาม กฎแห่งการสืบพันธุ์ หรือพันธุกรรม เช่นเมล็ดมะม่วงก็ย่อมงอกงามออกมาเป็นต้นมะม่วง จะเป็นต้นทุเรียนไปไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น นี้ก็เป็นกฎของธรรมชาติอย่างหนึ่ง
2.อุตุนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิ หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะดิน น้ำ อากาศ และฤดูกาล เช่นเย็น ร้อน หนาว ฟ้าร้องฟ้าฝ่า เป็นต้น นี้ก็เป็นกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง
3.จิตตนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต เช่นการที่จิตรับรู้เรื่องราวต่างๆ แวบไปโน่นไปนี่ได้รวดเร็วเหลือเชื่ออย่างไร จิตมันทำงานอย่างไร เป็นต้น นี้เป็นกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง
4.กรรมนิยาม กฎแห่งกรรม คือกฎธรรมชาติว่าด้วยการกระทำ และการให้ผลของการกระทำ เช่น ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว นี้เป็นกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง
5.ธรรมนิยาม กฎแห่งธรรมดาของสรรพสิ่ง เช่นสิ่งทั้งหลายมีการเกิดขึ้นแล้วย่อมแปรเปลี่ยนดับสลายไปในที่สุด พูดง่ายๆ ว่า ทุกสิ่งไม่แน่นอน เกิดขึ้นมาแล้วย่อมเปลี่ยนแปลงและดับสลายไปตามเหตุปัจจัย
กฎที่ 5 นี้ครอบคลุมทุกกฎที่กล่าวมาข้างต้น กฎแห่งกรรมก็เป็นหนึ่งใน 5 กฎนั้น เพราะฉะนั้น กฎแห่งกรรมจึงเปลี่ยนแปลงได้ มิใช่กฎตายตัว
เมื่อกฎแห่งกรรมมันเปลี่ยนแปลงได้ แล้วแต่เงื่อนไขใหม่ๆ ที่จะมาผันแปร หรือสนับสนุนให้มันเป็นไปในทางใด คนที่ทำความไม่ดีมาก่อน ความไม่ดีนั้น จริงอยู่แนวโน้มจะให้ผลไม่ดีแก่ผู้กระทำมีอยู่ เพียงรอโอกาสที่เหมาะจะให้ผล บังเอิญว่าคนคนนั้นมากระทำความดีมากมายเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา ความดีนั้นอาจจะมี "พลัง" ละลายความชั่วให้หายไป หรือหมดโอกาสจะให้ผลเลยได้
ในทำนองเดียวกัน คนที่เคยทำความดีมามาก ภายหลังกลับทำความชั่วมากขึ้นกว่าเดิม ความดีที่เคยมีก็อาจจะ "จางลง" ไปได้
เรื่องนี้ไม่ยกตัวอย่างคงจะกระจ่างยาก ผมขอยกตัวอย่างที่รับรู้กันได้ง่ายๆ สักเรื่องหนึ่ง สมมุติว่า เรามีบ่อน้ำที่มีน้ำสกปรกมากอยู่บ่อหนึ่ง การที่เราจะทำน้ำให้สะอาดอาจมีหลายวิธี แต่วิธีหนึ่งที่ง่ายๆ ก็คือ ไขน้ำที่สะอาดเข้าไปให้มากๆ
น้ำใหม่ที่สะอาดนั้นก็จะเข้าไปละลายน้ำเก่าให้เป็นเนื้อเดียวกัน สักพักน้ำในบ่อนั้นก็จะใสสะอาดจนกระทั่งดื่มกินได้
คำถามก็คือ น้ำที่สกปรกมันหายไปไหน ตอบว่า มันก็อยู่ตรงนั้นแหละ แต่มันเจือจางไปกลายเป็นน้ำที่สะอาดขึ้นมาแล้ว
ในเรื่องความดีความชั่วก็เช่นเดียวกัน เราเคยทำดีมามาก ภายหลังกลับทำความชั่วมากกว่า ความดีก็ละลายหายไปโดยอัตโนมัติ หรือเคยทำชั่วมา แต่ภายหลังทำความดีมากขึ้นๆ ความดีนั้นก็จะทำให้ความชั่วหมดไปได้
อย่างนี้เราจะเรียกว่า ทำชั่วลบล้างความดี ทำดีลบล้างความชั่วได้ไหม จะว่ามัน "ล้าง" กันตรงๆ เหมือนเอาผงซักฟอกล้างคราบสกปรกก็ไม่ใช่ดอกครับ เพียงแต่ว่า ความดี (บุญ) ถ้ามันมีมากขึ้นๆ มันก็ทำให้ความชั่ว (บาป) ที่มีอยู่เดิมละลายหายไปได้ คือไม่สามารถให้ผล หรือความชั่ว (บาป) เมื่อมีมากขึ้นๆ มันก็สามารถทำให้ความดี (บุญ) อันตรธานไปเช่นเดียวกัน
มีพุทธภาษิตรับรองไว้ว่า (ขอยกมาอ้างเพื่อความขลัง)
ยัสสะ ปาปัง กะตัง กัมมัง กุสะเลนะ ปะหิยะติ
โสมัง โลกัง ปะภาเสติ อัพภา มุตโตวะ จันทิมา
ใครทำความชั่วไว้ ภายหลังละได้ด้วยการทำความดี เขาผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว ดุจพระจันทร์พ้นจากเมฆหมอก ส่องสว่างกลางหาวฉะนั้น
แปลไทยเป็นไทยก็ว่า ใครก็ตามเคยทำชั่วไว้ ต่อมากลับทำความดีไว้มากๆ ความชั่วก็หายไป คนเช่นนี้เรียกว่า พบแสงสว่างแห่งชีวิตในโลกนี้ เหมือนพระจันทร์ไม่ถูกเมฆหมอกบดบัง
คงจะจำพระองคุลีมาลกันได้ ในอดีตท่านได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้มาก ฆ่าคนมาเป็นร้อยๆ ตามหลักของกรรม ความชั่วที่ท่านทำจะต้องตามสนองไม่เร็วก็ช้า แต่บังเอิญว่าท่านพบพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ เลิกละวางทางแห่งความชั่วร้าย ออกบวชบำเพ็ญพรต จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
เงื่อนไขใหม่ที่ท่านทำนี้มีมาก และมีพลังทำให้เงื่อนไขเก่าเปลี่ยนแปลงไป พูดง่ายๆ ก็ว่า ทำความดีจนถึงที่สุดแล้ว ความชั่วที่เคยมีมาก็หมดโอกาสให้ผลเอง จะเรียกว่ามันหายไปหมดไปเลยก็ได้ เหมือนน้ำสกปรกในบ่อ เมื่อมีน้ำสะอาดไหลเข้ามากๆ มันก็ละลายหายไปเองดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
หลักกฎแห่งกรรมตรงนี้ทำให้เราได้คิดว่า เราสามารถ "ลิขิต" ชีวิตตัวเองได้ ถ้าเรารู้ตัวว่าเราเคยไม่ดีมาก่อน (ไม่อยากใช้คำว่า "ทำชั่ว") ใช่ว่าเราจะเป็นอย่างนั้นชั่วอมตะนิรันดร์กาลก็หาไม่ เราสามารถทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ด้วยการพยายามปรับปรุงตัวเอง ทำความดีให้มากๆ ขึ้น เช่นให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญสมาธิภาวนา ในที่สุดเราก็จะกลายเป็นคนละคน
เพราะฉะนั้น อยากได้อะไร อยากเป็นอะไรในอนาคต ก็ทำเอาเองเถิด สร้างเหตุปัจจัยที่จะอำนวยผลในทางนั้น ไม่ต้องไปฝากชีวิตทั้งชีวิตไว้กับการเซ่นสรวงบูชา อ้อนวอนภูตผีเทวดาโดยไม่จำเป็น
พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า กัมมุนา วัตตะตี โลโก แปลให้ฟัง ชัดๆ ว่า คนเราจะเป็นอะไรก็เพราะการกระทำของเราเอง ภูตผีเทวดาไม่เกี่ยว
วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
การเมืองของชุมชน copyจากมติชน
คอลัมน์ จินตนาการการเมืองใหม่
โดย ไมตรี จงไกรจักร์ เครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง
พิธีแห่ขบวนเรือในงานเปิดเลขเรือของชุมชนเกาะลันตา |
คปสม.ถอดบทเรียนร่วมกันของชุมชนกว่า 200 ชุมชน จากปฏิบัติการจริงในพื้นที่ ซึ่งเห็นว่าต้องสร้างการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้นโดยการเปลี่ยนแปลงใน 4 ส่วน
1.การเมืองใหม่เชิงโครงสร้าง เป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ซึ่ง คปสม.วิเคราะห์ว่าการเมืองที่ผ่านมามีปัญหาเพราะไม่มีเปิดโอกาสให้เสียงข้างน้อย โดยกลุ่มคนเสียงข้างน้อยกลายเป็นผู้ผิด ดังนั้น ทุกคนในสังคมต้องช่วยกันคิดว่าโครงสร้างทางการเมืองจะได้มาซึ่งนักการเมืองที่ดีมีคุณธรรมได้อย่างไร เพราะการเมืองแบบเก่ามีปัญหา นักการเมืองจะได้มาจากไหนก็ตาม ไม่นานก็เปลี่ยนไปตามเงินและอำนาจ สุดท้ายชุมชนไม่ได้อะไรมากนักจากการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนทั้งระบบครอบคลุมทุกด้าน แม้กระทั่งนักวิชาการบางคนเองก็เชื่อว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งและเสียงข้างมากเท่านั้น ซึ่งพวกเราเรียกประชาธิปไตยเผด็จการ (ผู้บริหารบ้านเมืองเมื่อได้เสียงข้างมากแล้วสามารถจัดการบริหารประเทศได้ทั้งหมดตามความต้องการของเสียงข้างมาก) นักวิชาการเหล่านี้ไม่เคยมองสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมและชุมชน
งานเดินขบวนในวาระครบรอบ 5 ปี ของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น |
2.การเมืองใหม่เชิงนโยบาย ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่เครือข่ายมองถึงการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้นควบคู่กันไปเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรชุมชน เพราะชุมชนไม่สามารถเข้มแข็งเองได้ แต่ต้องเกิดจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของชาวบ้าน ทั้งนี้ เพราะหน่วยงานราชการส่วนใหญ่ในเมืองไทยไม่ได้ต้องการให้ชุมชนเข้มแข็งจริงเพราะกลัวเกิดการต่อรองกับภาครัฐ ขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งของการพัฒนาชุมชน แต่กลับได้รับงบฯสนับสนุนจากรัฐบาลน้อยมาก จนต้องของบฯสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศเพื่อทำงานในพื้นที่ ดังนั้น การสร้างการเมืองใหม่ให้เข้มแข็งต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายดังนี้
2.1 สื่อสารมวลชนต้องไม่ถูกแทรกแซง และส่งเสริมให้สื่อเผยแพร่ข้อมูลครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะประเด็นสาธารณะต้องไม่ปิดบังทั้งด้านบวกและด้านลบ เพราะสื่อเป็นพื้นที่สร้างการเรียนรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อมของสังคม หากสื่อทุกประเภทกล้าเปิดเผยข้อเท็จจริงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและชาวบ้านสามารถพิจารณาเลือกคนดีได้มากกว่าเลือกเงิน
2.2 กฎหมาย แม้รัฐธรรมนูญระบุเรื่องสิทธิชุมชน แต่กฎหมายหลายฉบับออกมานานและล้าสมัย ที่สำคัญคือมีการละเมิดสิทธิชุมชน ดังนั้น ต้องรื้อกฎหมายเหล่านี้ขึ้นมาพิจารณาร่วมกันใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน
ชุมชนบางขุนเทียนประชุมคัดค้านการสร้างแนวกันคลื่นแบบไส้กรอกทราย |
2.3 งบประมาณ องค์กรชุมชนต้องได้รับสนับสนุนจากรัฐโดยตรง โดยให้ชุมชนบริหารจัดการเองซึ่งต้องไม่ใช่รูปแบบระบบราชการ ทั้งนี้ แผนงานทั้งหมดเกิดขึ้นจากฐานพื้นที่องค์กรชุมชนซึ่งรัฐเองจะได้ประโยชน์โดยตรงเพราะมีคนช่วยทำงานในการแก้ปัญหา
2.4 ด้านการศึกษา ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เพราะปัจจุบันมุ่งเน้นให้เกิดการแข่งขันแย่งชิง ทำให้การศึกษาไม่เกิดการพัฒนาทางความคิดและร่วมสร้างสรรค์สังคม เพราะการศึกษาปัจจุบันส่งเสริมให้คนออกจากชุมชนไปเป็นลูกจ้าง ขาดการส่งเสริมให้เรียนรู้และรู้จักชุมชนตนเอง การเปลี่ยนแปลงของการศึกษาต้องสร้างหลักสูตรชุมชน ส่งเสริมการศึกษาทางเลือกที่เป็นรูปธรรม
3.การเมืองใหม่ การเมืองทางตรง ที่ผ่านมาหลายสิบปีที่เครือข่ายองค์กรชุมชนร่วมกันแก้ปัญหาในชุมชน โดยการกดดันหน้าอำเภอ หน้าศาลากลาง หน้าทำเนียบรัฐบาล ที่หลายคนเรียกม็อบ หลายคนเรียกการชุมชุม แต่เครือข่ายองค์กรชุมชนเรียกว่าการประชุมในที่สาธารณะ เพราะจัดขึ้นในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหา และเชิญส่วนราชการร่วมประชุมแต่ส่วนใหญ่จะไม่เข้าร่วม หรือเข้าร่วมก็จะรีบกลับ ยังไม่ทันได้รับรู้ปัญหา เครือข่ายองค์กรชุมชนจึงต้องไปประชุมร่วมกับหน่วยงานในสถานที่ที่เขาอยู่ ถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับส่วนราชการที่กินเงินเดือนภาษีประชาชนทั้งประเทศ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางลงพื้นที่และชุมชน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมักถูกประณามว่าเป็นมอบรับจ้าง สร้างความวุ่นวาย ทั้งๆ ที่คนกลุ่มนี้เป็นผู้เดือดร้อนตัวจริง
4.การเมืองที่กินได้ เครือข่ายได้ร่วมสร้างการเมืองที่กินได้กันมาอย่างยาวนาน แต่หลายคนไม่เข้าใจหลักการของการเมืองแนวนี้ พวกเราเครือข่าย คปสม.ร่วมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การปลูกป่าชายเลน เพื่อปกป้องแหล่งอาหารและธนาคารปลาที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ กันแนวเขตทะเลเพื่อป้องกันการทำลายทรัพยากรทางทะเลและประมงผิดกฎหมาย การปกป้องอธิปไตยทางอาหาร เช่น การป้องกันให้ชาวตะวันออกกลางเข้ามาทำนา การสร้างความสุขมวลรวม (ชุมชนแห่งความสุข) ที่เกาะปอ จังหวัดกระบี่ ที่หนองผำ จังหวัดอุบลราชธานี กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องรื้อใหม่เพื่อใช้ในการคุ้มครองผู้ปกป้อง และให้ถือว่าเป็นคดีทางการเมือง
การเมืองใหม่ของสังคมไทยไม่ใช่เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนของสังคมต้องช่วยกันคิด สรรค์สร้างสังคม ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนผ่านทางการเมืองโดยใช้ชุมชน สังคม เป็นฐานเพื่อให้เกิดการเมืองที่เห็นหัวคนจนและคนส่วนใหญ่ของประเทศ
ร้านอร่อยในโคราช copyจากมติชน
คอลัมนื ตามรอยพ่อไปชิม
โดย ปิ่นโตเถาเล็ก
ร้านแรก เป็นร้านขนมจีนดังประจำจังหวัด ชื่อว่า "ขนมจีนแม่พลอย" ขึ้นชื่อเรื่อง "ขนมจีนประโดก" มีศักดิ์ศรีเป็นถึงผลิตภัณฑ์โอท็อป (OTOP) ประจำตำบลหมื่นไวยของจังหวัดนครราชสีมา ประโดกคือหมู่บ้านเก่าแก่ที่เป็นแหล่งผลิตขนมจีนอันลือชื่อมาเป็นเวลานาน
ทางไปร้านให้ไปตั้งต้นที่หน้าเดอะมอลล์ ตรงไปถึงสามแยกใหญ่แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนมิตรภาพที่จะไปขอนแก่น ผ่านสถานีขนส่งและห้างแม็คโคร จากนั้นเลี้ยวซ้ายที่สี่แยกโรงแรมปีกาซัส (ก่อนถึงมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล) เข้าไปอีกนิดเดียวจะเห็นร้านขนมจีนแม่พลอยอยู่ทางซ้ายมือ จอดรถได้ข้างหลังร้าน
ที่นี่มีแกงให้เลือก 4 อย่าง ทั้งน้ำยากะทิปลาดุก น้ำยาป่าปลาช่อน น้ำพริก และแกงไก่ ที่ผมชื่นชอบเป็นอันมากคือ "น้ำยากะทิกับแกงไก่" สั่งแกงแยกมาเป็นถ้วยๆ ดีที่สุด จึงจะเลือกชิมได้ครบถ้วน สนนราคาถ้วยละ 20 บาทรวด
ขนมจีนประโดกเป็นขนมจีนหมักสีออกมอๆ ตุ่นๆ ขาวขุ่น ซึ่งผมชื่นชอบมากเพราะมีกลิ่นหมักและรสชาติดีกว่าชนิดสด น้ำยากะทิปลาดุกข้นคลั่กสีส้มสดรสชาติยอดเยี่ยมกลมกล่อมออกเค็มนิดหน่อย
ส่วนแกงไก่แม่พลอยเป็นแกงสุดโปรดของผม ซึ่งเป็นแกงเผ็ดไก่ (แกงแดง) ไม่ใช่แกงเขียวหวาน นอกจากเนื้อไก่แล้ว ถ้าใส่ไก่เพิ่มจะคิดเป็นชิ้นๆ ตามประเภท โดยน่องไก่คิด 15 บาท เครื่องในสดอร่อยคิดพวงละ 15 บาทเช่นกัน เลือดชิ้นโตๆ 2 ชิ้น 5 บาท และตีนไก่ 1 คู่ 5 บาท แกงรสชาติจัดจ้าน รสเผ็ดๆ เค็มๆ ตีนไก่และเครื่องในสดอร่อยเหลือหลาย กินให้ครบเครื่องจริงๆ ต้องแกล้มด้วยไข่ต้มเพิ่มพลังอีก 1 ฟอง
มาโคราชแล้วอยากกินอาหารอีสานจำพวกลาบ เสือร้องไห้ ส้มตำต้องมาที่ร้าน "ลาบ-เนื้อย่าง ป.ต.อ." หรือที่เรียกกันติดปากว่าร้านหมวดเพ็ญ ทั้งๆ ที่เจ้าของนั้นมียศจริงๆ เป็นถึงพันโท
จะไปร้านนี้ต้องเข้าไปในเขตทหารบริเวณค่ายสุรนารี ซึ่งเข้าได้หลายประตู โดยเข้าทางด้านถนนพิบูลละเอียดสะดวกที่สุด วิ่งผ่านโรงพยาบาลค่ายสุรนารีและสวนน้ำบุ่งตาหลั่วเฉลิมพระเกียรติ (หรือเรียกสั้นๆ ว่าบุ่ง) ผ่านประตูค่าย ตรงเข้าไปจนสุดทาง แล้วเลี้ยวขวาที่สามแยกเข้าถนนวีระโยธา วิ่งต่อไปจนถึงแยกวงเวียนแล้วเลี้ยวซ้าย
จุดสังเกตด้านข้างคือ สนามไดร์ฟกอล์ฟ ป.ต.อ. ซึ่งเป็นลานฝึกซ้อมโล่งๆ ไม่ต้องมองหาตาข่ายสูงๆ ให้เสียเวลา เข้าไปไม่กี่ร้อยเมตรก็จะเห็นร้านเนื้อย่างป.ต.อ.ทางซ้ายมืออยู่ตรงใต้ถุนบ้านพักทหาร
ของอร่อยร้านนี้มีหลายอย่าง เด็ดที่สุดคือ "เนื้อย่างติดมัน" หรือที่ถูกควรจะเรียกมันติดเนื้อมากกว่า เนื้อย่างเจ้านี้นุ่มเด็ดมีรสหวานเล็กน้อย เป็นเนื้อสันติดมันอย่างดี หมักด้วยสูตรลับเฉพาะวันต่อวัน หมักตอนเช้า กลางวันก็ได้ที่แล้ว เวลาย่างก็ต้องย่างให้เป็น ต้องพลิกเนื้อกลับไปกลับมาบ่อยๆ และต้องรู้เรื่องไฟด้วย น้ำจิ้มแจ่วของร้านนี้ก็เด็ดขึ้นชื่ออีกเช่นกัน ถ้าชอบมันมากๆ ให้บอกว่าเอา "เสือร้องไห้ติดมันเยอะๆ"
อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ "ไส้กรอกอีสาน" รสไม่เปรี้ยวมาก ถ้าชอบเปรี้ยวก็บอกเขาได้ ทำจากเนื้อสันหมูและสามชั้น ไม่เอาเศษคอหมูมาทำให้เสียราคา "ตับหวาน" นั้นก็สดหวานสมชื่อ ตับชิ้นหนาๆ สุกกำลังดีเคี้ยวดังกึ๊ดๆ เลย เป็นอาหารจานโปรดของผมด้วย
จะกินส้มตำอีสานให้ถึงใจต้องสั่ง "ส้มตำปลาร้า" หอมอร่อย ของอร่อยอีกอย่างที่จะขาดไม่ได้คือ "ต้มเครื่องในวัว" รสแซ่บสะใจ อย่าลืม "ลิ้นหมูย่าง" นุ่มๆหอมๆ มันๆ ซึ่งเป็นเมนูเด็ดอีกเหมือนกัน ปิดท้ายด้วย "ลาบหมู" ครบเครื่องเรื่องอีสานแน่นอน ร้านนี้เปิดทุกวันไม่มีวันหยุด
ยามบ่ายอากาศร้อนๆ ไม่ต้องห่วง โคราชมีเฉาก๊วยโบราณและนมผสมเฉาก๊วยให้คลายร้อน เจ้านี้อร่อยที่สุดในประเทศไทย ใครๆ ก็รู้จัก "ร้านเฉาก๊วยโบราณ เจ๊อ้อยโคราช" อยู่บนถนนยมราชช่วงระหว่างถนนมนัสกับถนนประจักษ์
ที่นี่มี "เฉาก๊วยแบบโบราณ" ใส่กระปุกเป็นชุดๆ แยกน้ำเชื่อมและน้ำตาลทรายแดง นี่คือเฉาก๊วยในฝันของผม เนื้อเหนียวหนึบกำลังดี หอมกลิ่นเฉาก๊วยและน้ำตาลทรายแดง
นอกจากนี้ยังมีเครื่องดื่มใส่ขวดเล็กๆ ผสมนมสดมากมายหลายชนิด ที่ห้ามพลาดคือ "นมผสมเฉาก๊วย" รสกลมกล่อมหวานมัน อีกทั้งยังมีเครื่องดื่มที่เป็น "นมผสมวุ้นและนมผสมแมงลัก" รสชาติต่างๆ ทั้งรสชาเย็น กาแฟ ใบเตย นมเย็น นมสด ชาเขียว แคนตาลูป เผือก ช็อกโกแลต และน้ำเก๊กฮวยผสมวุ้น สะอาดถูกหลักอนามัยมีเครื่องหมาย อย.กำกับ ทางที่ดีควรหาซื้อกล่องโฟมใส่น้ำแข็ง ซื้อติดไปสักหลายสิบขวด สนนราคาเพียง 10 บาทรวด เอากลับไปฝากคนที่บ้าน รับรองติดใจทั้งรักทั้งหลงคนซื้อไปอีกนาน
ข้อมูลร้าน
เฉาก๊วยเจ๊อ้อย โคราช
โดย คุณจำรัส และคุณแสนสุข(เจ๊อ้อย) เติมศรีสุข
ที่ตั้ง 331/7 ถนนยมราช ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา 30000
โทร.0-4426-7443 และ 08-1976-5773
เปิดบริการ 07.00-19.00 น. ทุกวัน
แนะนำ เฉาก๊วยโบราณ นมผสมเฉาก๊วย และนมผสมวุ้นหรือแมงลัก รสชาติต่างๆ
ขนมจีนแม่พลอย
โดย แม่พลอย โตหมื่นไวย
ที่ตั้ง 7/1 หมู่ 6 ต.หมื่นไวย อ.เมือง จ.นครราชสีมา
โทร.044-271-964
เปิดบริการ 07.00-16.00 น. ทุกวัน
อาหารแนะนำ ขนมจีนน้ำยากะทิ ขนมจีนแกงไก่
ร้านลาบ-เนื้อย่าง ป.ต.อ.
โดย พันโท บำเพ็ญ ศรีสุระ
ที่ตั้ง ซอยข้างสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ ป.ต.อ. ค่ายสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา
โทร.0-4499-0125 และ 08-1879-4743 (คุณป้อม ลูกสาวผู้พัน) และ 08-1879-4962 (คุณต้อย น้องคุณป้อม)
เปิดบริการ 10.00-20.00 น. ทุกวัน
อาหารแนะนำ เนื้อย่าง ไส้กรอกอีสาน ตับหวาน ต้มเครื่องใน ลิ้นหมูย่าง ลาบหมู ส้มตำปลาร้า
วันเสาร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2551
ประโยชน์ของการตรงต่อเวลา จาก ข่าวสด
คอลัมน์ สดจากจิตวิทยา
นฤภัค ฤธาทิพย์/กรมสุขภาพจิต
การพัฒนาตนเองให้เป็นคนตรงต่อเวลานั้นเราสามารถทำได้โดยการที่เรารู้จักแบ่ง เวลาให้เหมาะสมกับกิจกรรมต่างๆ เป็นการจัดระเบียบให้กับชีวิต สำหรับในการทำงานหรือการเรียนก็คือการพยายามทำงานหรือส่งงานให้เสร็จก่อน เวลาเพื่อมีเวลาตรวจทานและส่งงานให้ตรงตามกำหนด รวมถึงหากนัดหมายกับผู้ใดควรที่จะเผื่อเวลาในการเดินทางเพื่อไปให้ถึงจุด หมายก่อนเวลาสักเล็กน้อย เพื่อจะได้ไม่ต้องเร่งรีบรวมถึงมีเวลาเตรียมความพร้อมให้กับตนเอง
การที่เราเป็นคนตรงต่อเวลานั้น จะช่วยให้เราเป็นคนที่ขยันขันแข็ง เอาการเอางาน มีความกระตือรือร้น รักที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ ช่วยให้เราไม่เฉื่อยชา ทันสมัย มีชีวิตชีวา เป็นคนมีวินัย สามารถจัดการกับงานหรือสิ่งที่ผ่านเข้ามาได้อย่างเป็นระเบียบ จึงทำให้เป็นคนที่ประสบความสำเร็จ มีความก้าวหน้าในชีวิต รวมถึงเป็นคนน่าเชื่อถือ และผู้อื่นให้ความไว้วางใจแก่เรา
สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ส่วนหนึ่งของการตรงต่อเวลา ที่สำคัญเหนืออื่นใดคือจะช่วยให้เราสามารถจัดการกับชีวิตของเราได้อย่างราบ รื่นและมีความสุข
วันศุกร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2551
สารเมลามีน จาก มติชน
วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2551
หึ่งชิงนายกเล็กอำนาจฯแจกหัวละพัน
หึ่งชิงนายกเล็กอำนาจฯแจกหัวละพัน | ||
ข่าววันที่ 24 กันยายน 2551 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ | ||
|
วันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2551
พ.ร.บ.ผลประโยชน์ทับซ้อน จากข่าวสด
วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551
วาทะ ท่าน ปลัดมหาดไทย จาก มติชน ขออนุญาตเผยแพร่และเก็บไว้
"...เราเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราเป็นข้าราชการของประชาชน เป็นข้าราชการของบ้านเมือง เราไม่ใช่ข้าราชการของรัฐบาล รัฐบาลไม่ใช่เจ้าของเรา"
ผมอยากให้ข้าราชการวางตัวกลางๆ ไว้ สนองงานรัฐบาลเต็มความสามารถเท่าที่อยู่ในกรอบหลักเกณฑ์ ระเบียบกฎหมาย หรือทำเกินกว่าที่เขาสั่ง ขยันกว่าที่สั่งก็ได้ แต่ต้องไม่ผิดระเบียบกฎเกณฑ์ เพราะบางทีหิริโอตตัปปะ หรือศีลธรรมจรรยา ที่เราได้รับมาจากครอบครัว หรือสถาบันการศึกษา แม้ว่าเราเป็นปุถุชน ยังมีความอยาก และยังมีสิ่งแวดล้อมกดดัน ซึ่งผมเข้าใจ แต่เราต้องทำในสิ่งที่ไม่ควรทำให้น้อยที่สุด ถ้ามีโอกาสต้องเลิก ต้องเข้มแข็ง
แต่เวลาที่เราตัดสินใจมันมักจะมี 2 เรื่องที่เกี่ยวข้อง คือผลประโยชน์ของบ้านเมือง ของประเทศชาติ กับความพึงพอใจของประชาชน ถ้า 2 อันนี้ไปด้วยกันได้ก็ดี แต่ถ้าต้องเลือกข้าราช การจะต้องเลือกประเทศชาติก่อน แต่นักการเมืองมักจะเลือกความพึงพอใจของประชาชนก่อน เพราะเป็นคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง
คุณธรรมที่คนส่วนมากขาด จาก ข่าวสด
วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551
กองทุนคนพอเพียง รวยกว่าประชานิยม จาก ไทยรัฐ
กองทุนคนพอเพียง รวยกว่าประชานิยม [19 ก.ย. 51 - 16:10]
นัก วิชาการในห้องแอร์ นักการเมืองประชานิยมเชื่อว่า การพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นความยากจนได้... ต้องให้คนจนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายที่สุด
นโยบายที่ว่า...หว่านเงินกู้ให้กับชาวบ้านผ่านทางกองทุนต่างๆ และธนาคารของรัฐไปยังชนบท ด้วยเชื่อว่า เงินคือพระเจ้า...ชาวบ้านมีเงิน ชีวิตก็จะมีความสุขขึ้นมาได้เอง
แต่สิ่งที่นักวิชาการระดับด็อกเตอร์มอง นักเลือกตั้งประชานิยมเชื่อ... ชนชั้นรากหญ้า ผู้ใช้ชีวิตยืนตากแดดกลางทุ่ง นอนกางมุ้งใต้หลังคาสังกะสี ใน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา กลับเห็นตรงข้าม
“เอากองทุนมาให้ เอาโน้นเอานี่มาให้ แต่ทำไปทำมาเรากลับมีหนี้มากขึ้นกว่าเดิม ยิ่งอยากได้เงินมากเท่าไร พยายามขยันทำมาหาเงินเท่าไร หนี้ยิ่งกลับเพิ่มมากเท่านั้น
เราลงทุนทำนามากขึ้น อยากได้เงินไปซื้อโน้นซื้อนี่ แต่สุดท้ายเราแทบไม่ได้อะไรเลย คนที่ได้กลับเป็นพ่อค้าขายปุ๋ย ขายเคมียาฆ่าแมลงในตลาดโน้น”
นายอนุพงษ์ พุฒกลาง ประธาน กองทุนสวัสดิการชุมชนคนพอเพียง ต.กระเบื้องใหญ่ ต.สัมฤทธิ์ อ.พิมาย เล่าถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
และไม่น่าเชื่อ มุมมองของชนชั้นรากหญ้า ช่างสอดคล้องต้องกับรายงานการศึกษาของนักวิจัย มหาวิทยาลัยเอ็มไอที สหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งเปิดเผยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
พบว่า...เงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองของรัฐบาลไทยที่ทำลงไปนั้น ประชาชนในหมู่บ้าน ไม่ได้นำเงินไปลงทุนในภาคเกษตร หรือธุรกิจต่อเนื่องเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายของโครงการแต่อย่างใด
ชาวบ้านกู้เงินไปใช้ในการบริโภคเป็นส่วนใหญ่ โดยรายจ่ายหลักคือการซ่อมแซมบ้าน ซ่อมแซมรถ ซื้อน้ำมันรถ นม เหล้า บุหรี่
และตั้งแต่เงินกู้จากกองทุนเข้าไปในหมู่บ้าน กลับทำให้การกู้เงินนอกระบบ กู้เงินจากสถาบันการเงินขยายตัวเพิ่มตามไปด้วย...กู้เอาไปใช้หนี้คืนกองทุน หมู่บ้านฯ
งานวิจัยชิ้นนี้ ยังพบอีกว่า หนี้เสียของกองทุนฯ ซึ่งวัดจากการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือน มีเพิ่มสูงถึง 19%
ต่างจากที่สถาบันการเงินของรัฐ รายงานว่ามีหนี้เสียแค่ 4%
กองทุนที่รัฐหยิบยื่นก่อให้เกิดหนี้...ไม่เหมือนการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“เราอยู่แบบพอเพียงถึงจะไม่มีเงิน แต่เราก็มีกิน ไม่อดตาย และไม่มีหนี้ ที่สำคัญทำให้ชาวบ้านสามารถยืนได้โดยลำแข้งของเราเอง โดยไม่ต้องหวังพึ่งพาคนอื่น ชีวิตอย่างนี้ยั่งยืนกว่า มั่นคงกว่า...หวังพึ่งพาแต่ความช่วยเหลือจากรัฐบาล”
เป็นความรู้สึกจากใจ ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนคนพอเพียงฯ ที่ได้สัมผัสการหวังพึ่งความช่วยเหลือจากภาครัฐมาไม่น้อยว่า ผลสุดท้ายมักจะลงเอยเช่นไร
ชาวบ้านที่นี่เชื่อว่า การพึ่งพาตัวเองดีกว่า มีความสุขกว่า หลังจากช่วยกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนพอเพียง...โดยการชักชวนของศูนย์ เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ให้สมาชิกฝากเงินกับกองทุนวันละ 1 บาท
ฝากไว้ ไม่ใช่เป็นกองทุนให้ชาวบ้านด้วยกันกู้ยืม...แต่ฝากไว้เป็นกองทุน ที่แบ่งเงินออกเป็น 3 กอง
กองแรก 50% ของเงินฝาก เก็บไว้เป็นกองทุนสวัสดิการสำหรับช่วยเหลือชาวบ้านด้วยกันเอง ในยามเจ็บไข้ได้ป่วยต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล คลอดบุตร ยามแก่เฒ่า และเสียชีวิต
ฝากวันละ 1 บาท ครบ 6 เดือน ได้สิทธิ...ป่วยได้ค่ารักษาตัวที่โรงพยาบาล คืนละ 100 บาท ไม่เกิน 10 คืน
คลอดบุตรได้ 1,000 บาท ต่อครั้ง ป่วยจากการคลอดบุตร ได้ค่ารักษาพยาบาล 100 บาทต่อคืน ไม่เกิน 5 คืน
บุตรที่คลอด ได้เงินค่ารับขวัญ 500 บาท และต้องสมัครเป็นสมาชิกกองทุน ฝากวันละ 1 บาท ตั้งแต่แรกเกิด
เสียชีวิตได้เงินช่วยเหลือ 3,000-30,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะการออมนานแค่ไหน
เรียกว่า ไม่ต่างกับการประกันสุขภาพและประกันชีวิตของภาคเอกชนเท่าไร
กองที่สอง 30% ของเงินฝากเก็บไว้เป็นกองทุนสำหรับลงทุน ในวิสาหกิจชุมชนตามที่ชาวบ้านเรียกร้องต้องการ
ที่เหลืออีก 20% กันไว้เป็นทุนในการติดต่อเชื่อมโยงกับชุมนุมเครือข่ายอื่นๆ ในต่างจังหวัด ไว้คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันยามเดือดร้อนขัดสน
“ก่อนที่คิดจะตั้งกองทุนนี้ขึ้นมา ชาวบ้านก็ถกเถียงกันอยู่นานพอสมควร เพราะชาวบ้านไม่ค่อยมั่นใจสักเท่าไรว่าจะเป็นจริง ทำได้จริง
ฝากเงินไปแล้วจะไม่ถูกโกงเหมือนที่ผ่านมาหรือเปล่า เพราะที่โรงพยาบาลพิมาย เคยตั้งกองทุนเหมือนกัน แต่เป็นกองทุนฌาปนกิจ ที่ชาวบ้านได้จ่ายเงินไปแล้วคนละหลายพันบาท ตั้งได้แค่ 2 ปีก็ล้ม ชาวบ้านถูกโกงถูกเชิดเงิน
แต่จากการได้พูดคุยกัน ถึงความเดือดร้อนของพวกเราด้วยกันเองที่มีปัญหาเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย ถึงทางรัฐบาลจะมีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคให้ก็ตาม แต่ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีพอ เลยเห็นด้วยที่เราจะมีกองทุนแบบนี้ขึ้นมา”
หลังจากรวบรวมสมาชิกเริ่มแรกได้ครบ 100 คน กองทุนจึงได้ฤกษ์ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อ 19 ต.ค. 2549 และหลังจากชาวบ้านได้เห็นผลงานเป็นประจักษ์ว่า เจ็บป่วย คลอดลูกได้เงินช่วยเหลือจริง จำนวนสมาชิกก็เลยเพิ่มจำนวนมากขึ้น จนกองทุนเงินฝากวันละ 1 บาท พุ่งเพิ่มขึ้นมาเป็น 2.4 แสนบาท
ก่อตั้งได้ 1 ปี วิสาหกิจชุมชนอีกแห่ง ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมา...ธนาคารขยะ
นายประกิต ร่มรื่น ผู้จัดการธนาคารขยะ เล่าถึงสิ่งที่ชาวบ้านได้จากการรู้จักพึ่งพาตัวเองแบบพอเพียงว่า ตอนนั้นชุมชนของเรามีปัญหาขยะทิ้งเกลื่อนกลาด เต็มไปหมด โดยเฉพาะที่โรงเรียน ประกอบกับพ่อค้าของเก่ามารับซื้อขยะแบบกดราคา คณะกรรมการกองทุนจึงคิดจัดตั้งธนาคารขยะขึ้นมา รับซื้อขยะจากชาวบ้านในราคายุติธรรม
อย่างเมื่อก่อนพ่อค้ารับซื้อขวดพลาสติกแบบเหมา ให้ราคา กก.ละ 3 บาท แต่ธนาคารขยะรับซื้อ สอนให้ชาวบ้านแยกขยะ ขวดพลาสติกใส ให้ราคา กก.ละ 16 บาท
“กิจการธนาคารขยะของเรา ไม่เพียงช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น ยังทำให้หมู่บ้านเราสะอาดมากขึ้น หาขยะแทบไม่ได้เพราะชาวบ้านแย่งกันเก็บมา ขาย เดือนๆหนึ่งมีรายได้จากขายขยะ 70-80 บาท ต่อครอบครัวเลยทีเดียว”
จากนั้นไม่เท่าไร เมื่อเงินกองทุนงอกเงยเพิ่มขึ้นมา วิสาหกิจชุมชนที่ชาวบ้านต้องการอีกอย่างก็เกิดขึ้นตามมาอีก
เอาเงินฝากวันละ 1 บาท...มาลงทุนในกิจการโรงปุ๋ย
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ขายสมาชิกในราคาพิเศษ และขายส่งออกในราคาที่บวกกำไรแบบมิตรภาพ
“จะปลูกข้าวได้กำไรขาดทุนก็อยู่ที่ปุ๋ยนี่แหละ ขนาดตอนที่ข้าวมีราคา ใช้ปุ๋ยเคมีขายข้าวแล้วได้ทุนคืน ไม่ขาดทุนก็เก่งแล้ว แต่พอมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่เราทำเอง ตอนนี้มีกำไรเหลือ ไร่ละ 600-700 บาทแล้ว”
ตอนนี้ได้ขยายต่อไปทำกิจการธนาคารต้นไม้ เพาะพันธุ์ไว้ปลูกเองและขาย ตามด้วยลงทุนเปิดร้านค้าของชุมชน เอาสินค้าที่ชาวบ้านผลิตได้มาขายกันเอง งานขายสินค้าอบายมุข เหล้าบุหรี่
ชั่วเวลาแค่ไม่ถึง 2 ปี การรวมตัวพึ่งพาตัวเอง ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ส่งผลเห็นเป็นประจักษ์ นายอนุพงษ์ บอกว่า ทุกวันนี้คนในหมู่บ้านถึงจะไม่รวยขึ้น แต่หนี้ก็ไม่เพิ่ม และดูจะมีความสุขมากขึ้นกันทุกครอบครัว
เห็นได้จากชาวบ้านกล้าพบปะพูดคุยกันมากขึ้น...เพราะวันนี้ตัวเอง มีหนทางออกที่ยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้
ผิดกับก่อนหน้านี้ ไม่ค่อยกล้าสู้หน้าพูดคุยกัน...ด้วยเป็นทุกข์ อายเรื่องหนี้ เลยพยายามหนีหน้าห่างกัน..
วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551
การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองอำนาจเจริญรอบที่ 2 มีสุภาพสตรีสนใจ ลงสมัครชิงตำแหน่งแข่งขัน กับสองอดีตนายกเทศมนตรี (ข่าวเสียง)
หน้าหลัก ศูนย์ข่าวภูมิภาค ข่าวท้องถิ่น |
การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองอำนาจเจริญรอบที่ 2 มีสุภาพสตรีสนใจ ลงสมัครชิงตำแหน่งแข่งขัน กับสองอดีตนายกเทศมนตรี (ข่าวเสียง) (25/8/2008) การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองอำนาจเจริญรอบที่ 2 มีสุภาพสตรีสนใจ ลงสมัครชิงตำแหน่งแข่งขัน กับสองอดีตนายกเทศมนตรี (ข่าวเสียง) จากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งตาม พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 เทศบาลเมืองอำนาจเจริญ มีนางสาววิภาดา ต้นทอง เป็นสุภาพสตรีคนแรกที่ให้ความสนใจลงสมัครรับการเลือกตั้งในตำแหน่งนายก เทศมนตรีเมืองอำนาจเจริญ ซึ่งจะมีการจัดให้มีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน 2551 นี้ นายสุธรรม ยืนสุข ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ เปิดเผยว่าคณะกรรมการการเลือกประจำจังหวัดอำนาจเจริญประกาศให้มีการเลือกตั้ง และหลังจากที่เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 18-22 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมามีนางสาววิภาดา ต้นทอง เป็นสุภาพสตรีคนแรกที่ให้ความสนใจลงสมัครรับการเลือกตั้งในตำแหน่งนายก เทศมนตรีเมืองอำนาจเจริญ ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ของเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ ที่เปิดโอกาสให้ได้ผู้หญิงมีร่วมในการเมืองการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยครั้งนี้มีผู้สนใจสมัคร จำนวน 4 คนได้แก่ นายวิชัย บุญเสริฐ ผู้สมัครหมายเลข 1, นางสาววิภาดา ต้นทอง ผู้สมัครหมายเลข 2 , นายศักดิ์ชัย ตั้งตระกูลวงศ์ ผู้สมัครหมายเลข 3 และนายสมพรชัย คงไชย ผู้สมัครหมายเลข 4 ซึ่งอดีตนายกเทศมนตรีฯจำนวน 2 คน ลงสมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอำนาจเจริญอีกครั้ง กับผู้สมัครอิสระอีก1คน ..........เสียง.......... ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ กล่าวเสริมอีกว่า เทศบาลเมืองอำนาจเจริญ มีประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้ง 17,187 คน ตั้งเป้าหมายผู้ออกมาใช้สิทธิ ประมาณ ร้อยละ 70 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนในเทศบาลเมืองอำนาจเจริญทั้ง 30 ชุมชน ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองอำนาจเจริญในวันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน 2551 เป็นวันเลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 08.00 น. -15.00 น. อารีตา /พิมพ์ อังกฤษ / ข่าว / ตรวจทานวิมล / บก.ข่าว25 ส.ค. 2551 |
ข้อมูลจาก :: อังกฤษ ทองสัมฤทธิ์ สวท. อำนาจเจริญ วันที่ :: 25/8/2551 |
วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551
ส.ท.อำนาจฯโวยคดีร้องนายกไม่คืบ จาก มติชน
ส.ท.อำนาจฯโวยคดีร้องนายกไม่คืบ
นายศักดิ์ดา จันเทวา สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) เมืองอำนาจเจริญ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้นำหลักฐาน พร้อมยื่นหนังสือต่อจังหวัด เพื่อร้องเรียนนายวิชัย บุญเสริฐ อดีตนายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองอำนาจเจริญ ว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.เทศบาล 2496 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2546 เนื่องจากมีส่วนได้ส่วนเสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยอ้อม ในการทำสัญญาของเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ ที่ทำกับห้างหุ้นส่วนวัชรพงษ์กลการ จำกัด ซึ่งมีบุตรชายของนายวิชัยเป็นหุ้นส่วน รวมทั้งพบการกระทำผิดซ้ำซากในลักษณะข้อหาเดียวกันหลายครั้ง
"หลังร้องเรียนเวลาล่วงเลยมากว่า 100 วัน แต่ไม่มีความคืบหน้า อย่างไรก็ตาม ได้ส่งเอกสารร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดด้วย เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติต่อไป" (กรอบบ่าย)
ผวจ.ตั้งกก.สอบคำร้อง อดีตนายกเมืองอำนาจฯ จาก มติชน
ผวจ.ตั้งกก.สอบคำร้อง อดีตนายกเมืองอำนาจฯ
นายวิทยา ใจแก้ว ท้องถิ่นจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า จากกรณีสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) เมืองอำนาจเจริญ 4 คน นำหลักฐานเข้ายื่นหนังสือต่อนายปริญญา ปานทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ร้องเรียนนายวิชัย บุญเสริฐ อดีตนายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองอำนาจเจริญ ว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.เทศบาล 2496 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2546 เนื่องจากมีส่วนได้ส่วนเสียในการทำสัญญาของเทศบาลกับห้างหุ้นส่วนวัชรพงษ์กลการ จำกัด ที่บุตรชายนายวิชัยเป็นหุ้นส่วน ล่าสุดตนได้รับเรื่องจากนายปริญญาแล้ว พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง ทำหนังสือขอเอกสารหลักฐานประกอบการสอบสวนหาข้อเท็จจริงของเทศบาลเพื่อนำมาตรวจสอบ จากนั้นจะเรียกผู้ร้องและผู้ถูกร้องเรียนมาสอบปากคำต่อไป
"การหาเสียงนายกเทศมนตรี หลังนายวิชัยได้ใบเหลืองยังเป็นไปตามปกติ เพราะอยู่ในขั้นตอนการสอบสวน หากผลสรุปว่านายวิชัยผิด ก็ต้องถูกตัดสิทธิเพราะขาดคุณสมบัติ แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่" (กรอบบ่าย)
วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2551
อย่าใช้วิธีเดียว/พูดให้เป็น-รู้จักพูด จาก ข่าวสด
ธรรมะสู้ชีวิต
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
อย่าใช้วิธีเดียว
คุยกับเพื่อนที่เพิ่งรู้จักกันใหม่คนหนึ่ง เพื่อนเป็นนักธุรกิจขนาดย่อมที่ประสบความสำเร็จพอสมควรคนหนึ่ง ผมถามว่า มีเทคนิควิธีอะไรที่ทำให้ทำงานประสบความสำเร็จ เพื่อนบอกว่าไม่มีอะไรมาก ยึดถือคติเพียง 2 ข้อ คือ อดทน และเปลี่ยนแปลง
การทำงานอะไรก็ตามถ้าขาดคุณสมบัติ คือความอดทนเสียแล้ว ยากจะประสบความสำเร็จ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ความอดทนที่ใช้ก็ไม่ต้องมาก แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ และยิ่งต้องใช้เวลายาวนาน ก็ต้องอดทนเพิ่มขึ้นมากมายหลายร้อยเท่า
ฟังเพื่อนพูดแล้วทำให้นึกถึงอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่าง นึกถึงสัตว์ตัวเล็กๆ 2 ตัวคือ แมงมุม กับ กิ้งก่า
เคยเห็นแมงมุมมันถักใยไหมครับ สมัยผมเป็นเด็ก ชอบเฝ้าดูแมงมุมมันถักใย มันจะไต่ขึ้นไปจากมุมฝาด้านนี้ไปอีกด้าน มันจะตกลงมา แล้วมันก็จะพยายามไต่ขึ้นไปใหม่ ตกลงมา-ไต่ขึ้นไป ตกลงมา-ไต่ขึ้นไป เป็นอยู่อย่างนี้แล้วๆ เล่าๆ มันก็ไม่เลิกรา เพียรถักใยโดยวิธีนี้เป็นวันๆ ในที่สุดมันก็ได้ใยเป็นวงกลม มีลวดลายสวยงาม
การกระทำของแมงมุมบอกให้เรารู้ว่า นี่แหละคือสิ่งที่พระเรียกว่า วิริยะ หรือ วิริยารัมภะ (ความเพียร หรือ การปรารภความเพียร) "เพียร" ในความหมายของท่าน มิได้หมายความว่าต้องทำอย่างหักโหม ทำเต็มที่ ไม่หลับไม่นอนอะไรอย่างนั้น แต่หมายถึงการค่อยๆ ทำสม่ำเสมอ ทำเป็นกิจวัตร
เพราะฉะนั้น เวลาพระพุทธเจ้าตรัสอธิบายความเพียรพระองค์จะตรัสคำ "ไวพจน์" (Synonym) ไว้กำกับว่าสาคัจจกิริยา การกระทำต่อเนื่อง, ทำสม่ำเสมอไม่ขาดตอน
เด็กในกรุงอาจไม่เคยเห็นกิ้งก่า กิ้งก่าเป็นสัตว์ที่มีนิสัยประหลาดคือ วิ่งเร็ว และหยุดอยู่กับที่นาน เวลามันเห็นคนมันจะวิ่งจู๊ดหนีไปอย่างรวดเร็วมาก เสร็จแล้วมันจะเกาะกิ่งไม้นอนหลับตาปุ๋ยอยู่กับที่เป็นเวลานาน พอมีอะไรมาทำให้ตกใจทีก็วิ่งจู๊ดไปอีก แล้วก็นอนสงบนิ่งหลับตาเพลิน เป็นอยู่อย่างนี้
คนทำงานเหมือนกิ้งก่าก็คือ คนทำอะไรอย่างหักโหม ทำเอาๆ สักพักแล้วก็วางมือ นึกขึ้นมาได้ก็จับมาทำใหม่ ไม่ได้ทำต่อเนื่องเป็นกิจวัตรสม่ำเสมอ กิริยาอาการอย่างกิ้งก่านี้ไม่ควรนำไปใช้เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะไม่ช่วยให้ทำอะไรได้ประสบความสำเร็จ
คติข้อที่ 2 ที่เพื่อนยึดถือคือ รู้จักเปลี่ยนแปลง ทำให้นึกถึงนิทานจีนขึ้นมาเรื่องหนึ่งสั้นๆ แต่มีคติสอนใจดี
มีชาวนาคนหนึ่งไถนาเพลินอยู่ มีกระต่ายตัวหนึ่งวิ่งมาจากไหนไม่ทราบ ไปชนตอไม้ข้างๆ ดิ้นกระแด่วๆ ตายทันที
ชาวนาคนนี้ดีใจ ที่อยู่ๆ มีลาภลอยมาเข้าปาก เอากระต่ายกลับบ้านไปให้ภรรยาทำอาหารกินได้ตั้งหลายมื้อ
ชาวนาแกมานึกว่า การจะได้กระต่ายกินนี่ไม่ยากเลย ไม่ต้องไปดักไปยิงเหมือนคนอื่น เพียงแต่นั่งรอมันอยู่ตรงนี้แหละ เดี๋ยวก็จะมีกระต่ายตัวที่สอง ที่สาม วิ่งมาชนตอไม้ตายให้ได้กินอีก
คิดดังนี้แล้ว แกก็มานั่งเฝ้านอนเฝ้าอยู่ตรงนั้นทุกวัน กาลเวลาผ่านไปหลายวัน ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น แกเลยเลิกมานั่งเฝ้าอีกต่อไป
ไม่มีกระต่ายตัวที่สองวิ่งมาชนตอไม้อีกเลย!
เพราะฉะนั้น ถ้าหวังความก้าวหน้า และความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไปในหน้าที่การงานหรืออาชีพที่ทำอยู่ ก็ต้องรู้จักเปลี่ยนแปลง แก้ไขวิธีทำงานให้ทันสมัย และมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ
พูดให้เป็น-รู้จักพูด
ค่ำพูดที่คนใช้สื่อสารกันอยู่ในชีวิตประจำวันนั้น มีอยู่ 2 ประเภท คือ คำพูดดี รู้จักพูด เรียกว่า สุภาษิต กับคำพูดไม่ดี ไม่รู้จักพูด เรียกว่า ทุพภาษิต
คำพูดที่เรียกว่าสุภาษิตนั้น ต้องครบองค์ประกอบทั้ง 5 ประการคือ
-พูดถูกกาล, -พูดคำจริง, -พูดสุภาพ,
-พูดมีประโยชน์, -พูดด้วยเมตตา
จะพูดดีขนาดไหน ถ้าพูดไม่ถูกเวลา พูดคำไม่จริง ไม่สุภาพ ไม่มีประโยชน์ และพูดด้วยความมุ่งร้ายหมายขวัญ ก็ไม่นับว่า "สุภาษิต"
คนพูดดี คนรู้จักพูด ย่อมมีภาษีกว่าคนสักแต่ว่ามีปากแล้วก็พูดๆ สุนทรภู่มหากวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวไว้ให้คิดว่า "เป็นมนุษย์สุดนิยมที่ลมปาก จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ"
มีนิทานสอนใจเกี่ยวกับการใช้คำพูดเรื่องหนึ่ง ลูกเศรษฐีสี่คนเห็นนายพรานบรรทุกเนื้อผ่านมา อยากได้เนื้อกินบ้าง จึงเข้าไปพูดกับนายพรานทีละคน
คนแรกตะโกนว่า "เฮ้ย นายพราน บรรทุกเนื้อมาเต็มเกวียนเชียวหรือวะ ขอข้ากินบ้างสิเว้ย"
นายพรานฟังคำพูดอันระคายหูก็นึกฉุนในใจ หน็อยแน่จะขอเขากินทั้งที พูดไม่เข้ารูหู จึงตอบไปว่า "คำพูดของท่านหยาบเหมือนพังผืด ไม่สบายรูหูเลยนะ" ว่าแล้วก็เฉือนพังผืดยื่นให้สมกับคำพูดหยาบๆ ของเขา
คนที่สองกล่าวว่า "พี่ชายครับ ขอเนื้อผมบ้างเถอะครับ"
นายพรานกล่าวว่า "พี่น้องนั้นเปรียบเสมือนแขนขา ท่านเรียกเราว่า พี่ชาย ท่านจงเอาเนื้อขาไปเถิด" ว่าแล้วก็หยิบขาเนื้อให้
คนที่สามพูดว่า "พ่อครับ ขอเนื้อผมบ้าง"
นายพรานพูดว่า "เวลาได้ยินใครเรียกพ่อ ทำให้หัวใจของผู้ถูกเรียกหวั่นไหว คำพูดของท่านดุจดังหัวใจ จงเอาเนื้อหัวใจไปเถิด" ว่าแล้วก็เฉือนเนื้อหัวใจให้เขาไป
คนสุดท้ายกล่าวว่า "สหาย ขอเนื้อเราบ้าง"
นายพรานกล่าวว่า "หมู่บ้านใดไม่มีเพื่อน หมู่บ้านนั้นเป็นเสมือนป่า คนที่มีเพื่อนนับว่ามีทุกอย่าง เพราะฉะนั้นเราจะมอบเนื้อทั้งหมดแก่ท่าน" ว่าแล้วก็ยกเนื้อให้ทั้งเกวียนเลย และทั้งสองคนก็ได้กลายเป็นเพื่อนรักกันต่อมา
พูดดี พูดเป็น หรือรู้จักพูด ก็สำเร็จประโยชน์อย่างนี้แหละครับ ความจริงคนเราเกิดมาธรรมชาติก็ให้ปากมาทุกคน แต่ก็ใช้ปากไม่เหมือนกัน บางคนสักแต่ว่ามีปากให้พูดก็พูดๆๆ โดยไม่คำนึงว่าคำพูดของตนจะเป็นที่ระคายเคือง หรือจะก่อความเสียหายแก่คนอื่นหรือไม่
ที่ยกมานี้เพื่อแสดงว่า ไม่ใช่สักแต่ว่ามีปากแล้วก็พูดๆ ออกไป โดยไม่คำนึงว่าวาจาที่พูดออกไปนั้นจะเป็นโทษเป็นภัยแก่ใครหรือไม่ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "ขณะที่ชาวโลกเขาซัดกันด้วย "หอกคือปาก" ใครสงบปากสงบคำอยู่ได้ นับว่าอยู่ใกล้พระนิพพานแล้ว"
นั่นก็คือให้คำนึงก่อนว่า ถ้าพูดอะไรออกไปแล้ว จะเป็นผลร้ายแก่ตัวเรา แก่คนอื่นหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็นิ่งไว้ดีกว่า "นิ่งเสียตำลึงทอง" อะไรทำนองนั้น แต่ถ้าเรื่องใดไม่พูดแล้วจะเสียหายแก่ตนเอง และแก่ส่วนรวมก็ให้พูดออกไป
คงจะบอกยากว่าเรื่องใดควรพูด ไม่ควรพูด ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป แม้เรื่องที่ควรพูดยังต้องดูว่า ควรพูดกับใครเมื่อใดอีกด้วย ปัญญาตัวเดียวครับที่จะตัดสินได้
วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2551
มีเรื่องของลิงด้วย จากมติชน
คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วิธีที่ 4 เรียกว่า คิดแบบอริยสัจ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายก็ว่า คิดแบบแก้ปัญหา
การแก้ปัญหาที่ถูกต้องเขามีแบบของเขาอยู่ ถ้าไม่แก้ตามแบบที่ว่านี้ยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่งเหมือนลิงแก้ปัญหาว่าอย่างนั้นเถอะ ทำไมเวลาแก้อะไรแล้วยุ่งจึงมักจะเปรียบกับลิงก็ไม่รู้ อาจเป็นเพราะลิงมันเป็นสัตว์ที่ชอบทำอะไรต่อมิอะไรเสมอไม่หยุดนิ่ง เนื่องจากสมองลิงมันก็แค่สมองลิง ไม่ได้ฉลาดเฉลียวอะไรนัก มันจึงมักทำอะไรสับสนวุ่นวายเสมอ มีนิทานมากมายเกี่ยวกับความยุ่งของลิง เช่น
ลิงทอดแห ว่ากันว่าลิงมันเห็นคนทอดแหได้ปลากินทุกวัน มันก็อยากจะทำตามบ้าง มันจึงไปเอาแหมาคลี่ๆ แล้วก็โยน หมายจะให้แหลงไปในน้ำ แต่เหวี่ยงอีท่าไหนไม่รู้ แหไปพันเอา มันก็ตกน้ำตูม ดิ้นตายในน้ำนั่นเอง เพราะแหวกแหออกมาไม่ได้
ลิงติดตัง ไอ้จ๋อแสนซนอีกนั่นแหละ เห็นคนเขาเอาตังไปวางไว้ สำหรับดักสัตว์ (ไม่ต้องการดักลิงดอกครับ) ด้วยความเป็นสัตว์มืออยู่ไม่สุข มันจึงเอามือข้างหนึ่งไปจับมือก็ติดตัง แกะไม่ออก เท้าซ้ายติดอีก เอาเท้าขวาถีบ เท้าขวาก็ติดอีก เหลือแต่ปาก จึงเอาปากกัด ปากเจ้ากรรมก็ติดอีก คราวนี้ก็ดิ้นใหญ่ กลิ้งหลุนๆ เหมือนลูกบอลถูกนักฟุตบอลดาวซัลโวเตะยังไงยังงั้น
ลิงล้วงมะพร้าว สมุนพระรามแสนซน เห็นคนเขาเฉาะมะพร้าวอ่อนขาย ด้วยความอยากจะกิน มันจึงแอบขโมยเวลาเจ้าของเขาเผลอ วิ่งขึ้นบนต้นไม้เอามือล้วงเนื้อมะพร้าวเต็มกำมือแล้วเอามือออกไม่ได้ มันตกใจเป็นการใหญ่ แปลกใจว่าเวลาเข้าทำไมเข้าได้ เวลาออกทำไมออกไม่ได้ มันจึงสลัดมือเร่าๆ สลัดยังไงก็ไม่หลุด จนกระทั้งพลัดตกต้นไม้ตายแหงแก๋
ลิง "หำแตก" ช่างไม้เขาเลื่อยไม้ยังไม่เสร็จ เอาลิ่มตอกไว้ กะว่าวันรุ่งขึ้นจะมาเลื่อยต่อ ไอ้จ๋อตัวหนึ่งไปดึงลิ่มสลักออกด้วยความซน ขณะที่นั่งดึงลิ่มสลักอยู่นั้น "หำ" (ลูกอัณฑะ) หย่อนลงตรงกลางพอดี พอลิ่มสลักหลุด ไม้สองซีกก็ดีดเข้าหากันหนีบ "หำ" แตกละเอียด แล้วมันจะเหลืออะไร
ลิงรดน้ำต้นไม้ เจ้านายสั่งให้พาบริวารลิงรดน้ำต้นไม้ขณะเจ้านายไม่อยู่หลายวัน เจ้าจ๋อมันสั่งให้บริวารถอนต้นไม้ทุกต้นมาดูว่า รากชุ่มน้ำหรือยังหลังจากรดน้ำแล้ว ชั่วเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์ เจ้าของกลับมาดูสวน ลมแทบจับ เพราะต้นไม้เฉาตายเกลี้ยงสวน (เรื่องนี้เคยเล่าให้ฟังแล้ว)
นิทานก็คือนิทาน อ่านให้สนุกเฉยๆ ก็ย่อมได้ แต่ถ้าจะเอา "คติธรรม" จากนิทานก็ย่อมได้เช่นกัน เรื่องของลิงทั้ง 5 เรื่องนี้แสดงถึงการแก้ปัญหาไม่เป็นของลิง ลิงมันจึงประสบความยุ่งยาก บางตัวถึงกับเสียชีวิต ยิ่งแก้ก็ยิ่งแย่ อยู่เฉยๆ ยังจะดีกว่า
ลิงมันไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน จะแก้ปัญหาจะต้องทำอย่างไร พูดให้เข้าหลักวิชาก็ว่า ลิงไม่รู้การแก้ปัญหาแบบอริยสัจ
อริยสัจ คือ หลักคำสอนที่สอนให้รู้ว่าสภาพปัญหาคืออะไร
สาเหตุของปัญหาอยู่ที่ไหน อะไรบ้าง
ปัญหานี้มีทางแก้ไหม ถ้ามี มีกี่วิธี และวิธีไหนที่ดีที่สุด
นี่แหละครับคือขั้นตอนของการแก้ปัญหาแบบอริยสัจ ในกระบวนการแก้ปัญหาแบบอริยสัจนี้ ปัญญาเป็นองค์ธรรมที่สำคัญที่สุด การกระทำ (กรรม) และความต่อเนื่องของการกระทำ (วิริยะ) เป็นส่วนประกอบทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
สรุปให้ชัดๆ ก็คือ การจะแก้ปัญหาได้ จะต้องรู้สภาพปัญหา รู้สาเหตุของปัญหา รู้ว่าปัญหาต่างๆ นั้นหมดไปได้
และต้องลงมือทำหรือแก้ปัญหานั้นอย่างต่อเนื่อง
พระพุทธเจ้าของเรานั้น เมื่อครั้งยังทรงเป็นเจ้าชายสิตธัตถะ ทรงรู้ปัญหาที่รุมเร้าจิตใจมนุษย์ทั้งปวง คือการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ ตามแรงกรรมดีและชั่วที่แต่ละคนทำไว้ เบื้องแรกนั้นทรงรู้ว่าตัวปัญหาคืออะไร และรู้ด้วยว่าสาเหตุมาจากอะไร แต่ดูเหมือนว่า วิธีแก้ปัญหานี้ พระองค์ยังไม่ทรงทราบแน่ชัด
คือทรงคิดว่าการทรมานตนเองให้ลำบากด้วยตบะวิธีต่างๆ นั้นคือทางแก้ปัญหา ทางที่จะพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ พระองค์จึงทรงบำเพ็ญตบะ (ทรมานตน) ต่างๆ นานา ท้ายที่สุดทรงลดอาหารลงทีละนิดๆ จนกระทั่งไม่เสวยอะไรเลย จนร่างกายผ่ายผอม เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก อันเรียกว่า "ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา"
เมื่อการกระทำเช่นนั้นมิใช่ทางแก้ปัญหา พระองค์จึงไม่ประสบความสำเร็จ พูดง่ายๆ ว่าทรง "ล้มเหลว" โดยสิ้นเชิง แทบจะเอาชีวิตไม่รอดเลยทีเดียว ถ้าอาจถึงแก่ชีวิตก็ได้
เดชะบุญ พระองค์ทรง "ได้คิด" ว่าทางแก้ปัญหามิใช่อยู่ที่การอดอาหาร เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องของจิตใจ การจะหลุดพ้นจากกิเลสที่รึงรัดใจ แต่ไปทรมานร่างกายย่อมเป็นไปไม่ได้ ทางที่ถูกควร จะต้องฝึกฝนอบรมจิตใจ และร่างกายเองก็ต้องบำรุงให้มีพลังพอที่จะทำความเพียรต่อไป เมื่อร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง จิตใจก็มีสุขภาพจิตที่ดีด้วย (ดังคำกล่าวว่า "จิตใจที่สมบูรณ์ ย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง" อะไรทำนองนั้น)
ทรงค้นพบ "ความพอดี" ของร่างกายและจิตใจ ความพอดีของแนวความคิด ไม่สุดโต่งไปทางข้างใดข้างหนึ่ง และความพอดีของการปฏิบัติ ไม่ย่อหย่อนเกินไป และไม่ตึงเกินไปจนกลายเป็นความทรมาน
เราเรียกการค้นพบทางที่ถูกของพระองค์ว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" (ทางสายกลาง) นี้แลคือทางแก้ปัญหาที่ว่ามาข้างต้น
เมื่อทรงรู้ชัดว่าทางแก้ปัญหาคืออะไร อย่างไร จากนั้นพระองค์ "ลงมือปฏิบัติ" ด้วยวิริยะ อุตสาหะ จนในที่สุดก็แก้ปัญหาเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดได้ อันเรียกตามศัพท์ศาสนาว่า "บรรลุนิพพาน" (บรรลุถึงความดับสนิทแห่งกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล)
ที่ยกวิธีคิดและวิธีแก้ปัญหาของพระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้มาให้ดูก็เพื่อแสดงความจริงอย่างหนึ่งว่า แม้ว่าจะรู้ในเบื้องต้นว่าปัญหาคืออะไร สาเหตุของปัญหาคืออะไร แต่ไม่รู้ทางแก้ที่ถูกต้อง ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ดังเจ้าชายสิตธัตถะในตอนแรกนั่นแหละครับ
นี่ขนาดท่านเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านยังพลาดพลั้งได้ในตอนแรก สำมะหาอะไรกับเราปุถุชนคนธรรมดา จะไม่พลาดพลั้งบ้าง อันนี้เท่ากับให้กำลังใจเรานะครับ อย่ากลัวเลย ถ้าเราจะผิดพลาดบ้าง เป็นบางครั้งบางคราว ขอแต่ให้มีเจตนาแน่วแน่ที่จะแก้ปัญหาก็ใช้ได้แล้ว สักวันหนึ่งคงรู้วิธีแก้ และแก้ได้
บางครั้งถึงจะรู้ทางแก้แต่เป็นทางแก้ที่ไม่ค่อยดีนัก แม้ปัญหาจะแก้ได้ก็จริง การแก้ปัญหานั้นก็ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ไม่ควรที่วิญญูชนจะเอาเป็นแบบอย่าง
นึกตัวอย่างอื่นไม่ออก ขอยกตัวอย่างนักวิทยาศาสตร์ใหญ่คนหนึ่งแก้ปัญหาก็แล้วกัน เรื่องนี้เคยเขียนถึงมาแล้ว ขออนุญาตนำมาเล่าอีก เพราะมันจำเป็นจริงๆ หาเรื่องอื่นที่เหมาะสมกว่าไม่ได้
นักวิทยาศาสตร์ใหญ่คนนี้ มีปัญหาคือรำคาญเสียงแมวที่ร่ำร้องขอเข้าออกห้อง ขณะแกทดลองวิทยาศาสตร์อยู่ในห้องแล็บ
แกรู้ว่าสาเหตุของปัญหาก็คือ แมวมันอยากเข้าอยากออกห้องทดลองเวลาที่มันต้องการ
แกรู้วิธีแก้เหมือนกัน คือรู้ว่าถ้าเจาะช่องให้แมวมันออกเสีย แมวมันก็จะได้เข้าออกตามต้องการ จะเข้าจะออกเวลาไหนมันก็ย่อมทำได้ตามที่มันต้องการ เมื่อเป็นเช่นนั้น มันก็ไม่ต้องมาร้องเหมียวๆ ขอเข้าขอออกเสียงหนวกหูจะหมดไป พูดง่ายๆ ว่า ปัญหานี้แก้ได้ว่าอย่างนั้นเถอะ
แต่วิธีแก้ปัญหาของแกไม่ชัดเจน แกจึงเจาะช่องสองช่อง ช่องใหญ่สำหรับแมวตัวใหญ่ ช่องเล็กสำหรับแมวตัวเล็ก
แก้ปัญหาได้จริง แต่การแก้แบบนี้คนฉลาดเขาไม่ทำกัน ยิ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ใครๆ ยกย่องในมันสมองอันปราดเปรื่องด้วยแล้วทำอย่างนี้เขาจะหัวเราะเยาะเอา
ก็นำมาเล่าขานหัวเราะเยาะมาจนบัดนี้แหละครับ
เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาแบบอริยสัจ จะต้อง "รู้" ทุกขั้นตอน เมื่อรู้แล้วก็ลงมือทำ และทำอย่างต่อเนื่อง จนกว่าปัญหา ทั้งหมดจะได้รับการแก้ไข ฉะนี้แลโยมเอ๋ย
วันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2551
"กฎ 23 ข้อ" ทำให้เว็บน่าสนใจ copy มาครับ
"กฎ 23 ข้อ" ทำให้เว็บน่าสนใจ
:
เป็นกฎง่ายๆ ที่บางครั้งเหมือนเส้นผมบังภูเขา ทำตามได้ไม่ยาก เพื่อให้เว็บไซต์เป็นที่ดึงดูดของผู้ใช้มากที่สุด
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : กฎ 23 ข้อดังต่อไปนี้ เป็นการวิจัยของ 3 สถาบัน ได้แก่ The Poynter Institute, the Estlow Center for Journalism & New Media, และ Eyetools ภายใต้โครงการ “The Eyetrack III” ซึ่งศึกษาถึงกลยุทธ์การออกแบบเว็บไซต์เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ใช้ให้มากที่สุด
1. ตัวอักษรดึงดูดความสนใจได้เร็วกว่าภาพหรือกราฟฟิค
2. จุดแรกที่สายตามองคือ มุมซ้ายบนของหน้าเว็บ
3. ผู้ใช้จะมองไปที่มุมซ้ายบนของเว็บไซต์ ก่อนที่จะเลื่อนสายตาลงมาด้านล่างขวาเรื่อยๆ
4. ผู้ใช้ส่วนใหญ่ไม่สนใจมองแบนเนอร์โฆษณา
5. รูปแบบเว็บไซต์และตัวอักษรที่มีสีสันสะดุดตา มักไม่ได้รับความสนใจจากผู้ใช้
6. แสดงข้อมูลเป็นตัวเลข จะดึงดูดสายตามากกว่าเขียนเป็นตัวอักษร
7. ขนาดตัวอักษรมีผลต่อพฤติกรรมการใช้เว็บ โดยตัวอักษรเล็กๆ จะทำให้คนอ่านอย่างละเอียด ขณะที่ตัวอักษรใหญ่ ทำให้คนมองเป็นอันดับแรก
8. คนส่วนใหญ่อ่านพาดหัวรอง ในกรณีที่น่าสนใจจริงๆ
9. คนมักจะอ่านส่วนล่างของหน้าเว็บแบบผ่านๆ
10. ประโยคหรือย่อหน้าสั้นๆ ดึงดูดความสนใจของคนอ่านมากกว่า
11. รูปแบบเว็บไซต์ที่มีแถวแนวตั้งแถวเดียว ดึงดูดสายตามากกว่าหลายแถว
12. แบนเนอร์โฆษณาที่อยู่บริเวณบนสุดและซ้ายสุด จะดึงดูดสายตามากที่สุด
13. การวางโฆษณาใกล้กับคอนเทนท์ที่ดีที่สุด จะได้รับความสนใจจากผู้ใช้ค่อนข้างมาก
14. โฆษณาแบบตัวอักษรได้รับความสนใจมากกว่าโฆษณาแบบภาพหรือกราฟฟิค
15. ภาพยิ่งใหญ่ ยิ่งดึงดูดความสนใจได้มาก
16. ภาพที่ชัด ดูง่าย และถ่ายบุคคลจริงๆ จะได้รับความสนใจจากคนดู มากกว่าภาพประเภทดีไซน์จัดๆ ภาพนามธรรม (abstract) หรือภาพนายแบบ-นางแบบ
17. หน้าเว็บไซต์ก็เหมือนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ เพราะฉะนั้น พาดหัวจะได้รับความสนใจมากที่สุด
18. คนส่วนใหญ่มักจะสนใจหัวข้อและเมนูต่างๆ ในเว็บไซต์
19. ถ้ามีบทความยาวๆ ในเว็บไซต์หรือบล็อก หากแยกเนื้อหาออกเป็นข้อๆ จะได้รับความสนใจจากผู้อ่านมากขึ้น
20. ผู้ใช้มักจะไม่อ่านบทความที่ติดกันยาวๆ หลายบรรทัด ดังนั้น ถ้าบทความยาวมาก ควรแตกเป็นย่อหน้าย่อยๆ
21. การดึงความสนใจของคนให้อ่านบทความให้มากและนานที่สุด คือการใช้รูปแบบตัวอักษรที่แตกต่างกันไป เช่น ตัวหนา ตัวใหญ่ ตัวเอียง ตัวขีดเส้นใต้ หรือตัวอักษรสีต่างๆ แต่ไม่ควรใช้มากเกินไป เพราะทำให้ผู้อ่านหมดความสนใจเช่นกัน
22. เว้นที่ว่างบนหน้าเว็บบ้างก็ดี ไม่ต้องใส่ข้อมูลหรือภาพบนทุกอณูของเว็บก็ได้
23. ปุ่ม navigation ควรวางไว้บนสุดของหน้าเว็บ เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้ได้ง่ายที่สุด